WRITER: ไมค์ ริดเดิล ต้นฉบับภาษาอังกฤษจาก YMI
TRANSLATOR: กาญจนา กาญจนพาที
EDITOR: ใจทิพย์ อยู่มั่น
ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมานี้ ผมได้เข้าร่วมนมัสการกับคริสตจักร ซึ่งผมเองก็สังเกตว่ามันจะมีบางหัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ เช่น ตัวตนของเราในพระคริสต์ ความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่น ความยุติธรรม หรือการที่เราจะเป็นหุ้นส่วนในพันธกิจของพระเจ้าได้อย่างไร หัวข้อเหล่านี้สามารถช่วยให้เรามีมุมมองที่ถูกต้องและดำเนินชีวิตตามหลักความเชื่อได้
แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผมสามารถใช้มือเพียงข้างเดียวนับจำนวนครั้งที่พูดถึงเรื่องสุขภาพจิตและความเชื่อในคริสตจักร ในทางกลับกัน นับครั้งไม่ถ้วนที่ผมพูดถึงเรื่องนี้ในการสนทนาแบบตัวต่อตัว การบรรยายในมหาวิทยาลัย การพูดเท็ดทอล์ค (Ted Talks) หรือแม้กระทั่งในข่าว
ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าคุณมีประสบการณ์คล้ายกันกับผมหรือเปล่า แต่เราสามารถสรุปได้ว่า สุขภาพจิตนั้นเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างมากกับทุกคน ไม่ว่าคนๆ นั้นจะมาคริสตจักรหรือไม่ก็ตาม
ผมอยากให้เราพิจารณาถึงสิ่งที่ผลสำรวจเมื่อไม่นานมานี้จาก National Church Life มีหนึ่งในหกคนที่มาโบสถ์กำลังมองหาหรือกำลังได้รับการบำบัดทางด้านสุขภาพจิตในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สิ่งนี้สะท้อนความเป็นจริงของปัญหาสุขภาพจิตที่ประชากรออสเตรเลียโดยรวมประสบ
ให้เรามาวิเคราะห์กันอย่างจริงจัง
เราลองมาตอบคำถามเหล่านี้ด้วยกัน: คริสตจักรที่คุณอยู่นั้น มีความสนใจและมีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพทางจิตบ้างไหม? ถ้ามี มันถูกพูดถึงอย่างไร? ถ้าไม่มี นั่นหมายความว่าเรากำลังพลาดโอกาสครั้งสำคัญที่จะแบ่งปันความหวังในพระเยซูคริสต์กับคนที่กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตอยู่หรือเปล่า?
ตอนนี้ผมอยากจะบอกว่า ผมไม่ใช่ประเภทชอบวิจารณ์ที่แค่ต้องการจะชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของคริสตจักรในเรื่องการจัดการกับสุขภาพจิต ผมก็รักคริสตจักร
ในความเป็นจริง ผมมีส่วนร่วมในคริสตจักรและทำงานรับใช้ตั้งแต่ผมเป็นอนุชนและยังเป็นศิษยาภิบาลอนุชนมานานถึง 6 ปี
บทบาทปัจจุบันของผมในฐานะศิษยาภิบาลรุ่นต่อไป ซึ่งเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสาวกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เด็กไปจนถึงคนหนุ่มสาว (และพ่อแม่ของพวกเขา) โดยผมมักจะใช้เวลากว่าครึ่งหนึ่งของเวลางานไปกับการพูดคุยแบบส่วนตัวกับสมาชิกเหล่านั้น หลายคนที่คุยด้วยมักจะมีปัญหาทางสุขภาพจิตที่กำลังท้าทายชีวิตและความเชื่อของเขาในการติดตามพระเยซู
แต่ผมไม่มีประสบการณ์หรือมีความรู้ที่จะจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตได้เลย ตอนที่ผมเริ่มเป็นศิษยาภิบาลใหม่ๆ ผมมักตกอยู่ในภาวะที่ไม่แน่ใจว่าจะปฏิบัติและตอบสนองต่อคนที่มีความวิตกกังวลหรือมีภาวะซึมเศร้าได้อย่างไร
ผมไม่รู้ว่าสิ่งที่ถูกต้องที่ควรทำกับคนเหล่านี้คือ เพียงแค่อธิษฐาน แบ่งปันพระวจนะ หรือนั่งและตั้งใจฟังอย่างสงบกันแน่ เพราะปัญหาหรือประสบการณ์ที่ผมได้ฟังนั้น ผมไม่มีคำตอบอะไรที่จะให้ได้เลย เวลาที่มีบางคนบอกว่า เขารู้สึกประหม่าและวิตกกังวลกับการอ่านพระคัมภีร์ การอธิษฐานออกเสียง หรือการอยู่ท่ามกลางเสียงอึกทึกของคนมากๆ ผมก็มักจะพูดตอบพวกเขาอย่างกระตือรือร้นไปว่า “ไม่ต้องห่วงเลย คุณทำได้แล้ว และคุณก็ทำมันออกมาได้ดีมากด้วย”
แม้ว่าการให้กำลังใจแบบนี้ไม่ได้ผิดเสมอไป แต่ผมก็เริ่มตระหนักมากขึ้นว่าการตอบสนองที่กล้าหาญและกระตือรือร้นเช่นนี้ อาจมองข้ามอาการหรือการแสดงออกต่างๆ ของใครบางคนที่อาจเกิดจากการต่อสู้กับสุขภาพจิต
ซึ่งข้อคิดที่ผมค้นพบนี้ เกิดจากการที่ผมได้มีโอกาสคุยอย่างเปิดอกกับบางคนที่ช่วยแนะให้ผมได้เรียนรู้และสามารถที่จะตอบคำถามต่างๆ ได้ดีกว่าเดิม และจากการทำงานด้านนี้มากว่า 6 ปี ผมจึงมีความสามารถมากขึ้น แล้วก็ได้เก็บเกี่ยวสิ่งที่เป็นประโยชน์บางอย่างเอาไว้ด้วย
1. สร้างสภาพแวดล้อมในคริสตจักรที่จะไม่มองว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องน่ารังเกียจ
สิ่งที่เป็นเรื่องปกติในคริสตจักรของผมก็คือ การให้ความสนใจและอิสระกับคนที่เป็นพยานแบ่งปันเรื่องราวส่วนตัวของเขา ถึงประสบการณ์ในการเดินกับพระเยซูผ่านทางปัญหาสุขภาพจิตที่เขาเผชิญมา พวกเขาสามารถเล่าเรื่องผ่านการสัมภาษณ์ คำพยาน หรือการพูดคุยตัวต่อตัวในกลุ่มย่อย ซึ่งสิ่งนี้ทำให้การพูดถึงปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องปกติอีกทั้ง เรายังหนุนใจคนอื่นๆ ให้มีความกล้าที่จะแบ่งปันเรื่องราวส่วนตัวให้กับผู้อื่นอีกด้วย
การเห็นผู้คนมีอิสระที่จะเปิดเผยปัญหาจริงๆ ที่พวกเขาต้องเจอในชีวิต และการที่พระเยซูได้พบพวกเขาขณะที่กำลังอยู่ในปัญหานั้นแสดงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมที่ควรจะเป็นในชุมชนของผู้ทื่มีความเชื่อ
คริสตจักรของผมได้จัดให้มีหัวข้อเทศนาในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตชื่อ “สันติสุขในใจ” ถึง 3 สัปดาห์ เพื่อที่จะสำรวจและค้นหาว่า ความเชื่อศรัทธากับสุขภาพจิตนั้นสัมพันธ์กันอย่งไร มันเป็นหัวข้อที่มีพลังมาก เพราะเราสามารถเชื่อมต่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้านจิตใจ พระปัญญาของพระเจ้าผู้ทรงสร้าง และสันติสุขในพระคริสต์ที่อยู่ท่ามกลางสิ่งเหล่านั้นได้ สิ่งสำคัญคือ หัวข้อเทศนานี้ได้ช่วยผู้คนให้กลับมาฟื้นฟูความเชื่ออีกครั้ง เมื่อพวกเขากำลังมีคำถามเกี่ยวกับสุขภาพจิตและเรียนรู้ถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการตอบตัวเองและคนอื่นๆ จากการแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวและแนวคิดริเริ่มใหม่ๆ จากคริสตจักรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมเห็นถึงความสบายใจและการหนุนใจคนที่กำลังเจอกับปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งนั้นก็เป็นเพราะว่า “พวกเขารู้ว่ายังมีคนที่มีปัญหาและประสบการณ์เหมือนกันกับเขาและเขาสามารถระบายถึงปัญหาที่เจอและรับรู้ถึงการจัดเตรียมของพระเจ้าได้”
2. รับรู้ถึงขีดจำกัดของตัวเอง
ผมเคยได้ยินประโยคที่ว่า นักจิตวิทยาจะไม่ให้คำปรึกษาทางด้านกฏหมายกับคนอื่น โดยทั่วไปเราทุกคนควรระวังในการให้คำแนะนำหรือคำปรึกษากับคนอื่นในด้านที่เราไม่มีความรู้เฉพาะทางหรือไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมมาก่อน
ผมไม่ได้เป็นผู้มีคุณวุฒิด้านจิตวิทยาและเป็นสิ่งสำคัญมากที่ผมต้องจำไว้ว่าเมื่อไหร่ที่ผมไม่สามารถหรือไม่ควรจะช่วยผู้มีปัญหาทางจิตใจ เมื่อผมเตือนตัวเองถึงความจริงข้อนี้ มันทำให้ผมเป็นผู้ฟังที่ดีขึ้นเวลามีคนมาเล่าเรื่องปัญหาทางจิตที่พวกเขากำลังเจอ ผมจะพยายามหาคำถามที่ดีที่จะช่วยให้เขาเหล่านั้นได้อธิบายสิ่งที่พวกเขารู้สึกและสามารถเล่าประสบการณ์นั้นออกมาได้ ผมจะให้พวกเขาเป็นฝ่ายพูดและก็ฟังอย่างตั้งใจโดยไม่ตัดสินอะไร
เป้าหมายของผมคือ ต้องการให้พวกเขารับรู้ว่ามีคนรับฟังอยู่ โดยไม่ต้องพยายามคิดว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างหรือรีบให้คำแนะนำต่างๆ โดยส่วนมากผมจะพยายามอธิษฐานเผื่อพวกเขา รับฟังพวกเขา และแนะนำคนที่เขาอาจจะไปปรึกษาปัญหาได้ ผมจะบอกพวกเขาเสมอให้ลองคุยกับที่ปรึกษาหรือนักจิตวิทยาที่ได้รับการฝึกฝนเฉพาะทาง หรือไปพบแพทย์ที่จะส่งต่อไปถึงจิตแพทย์เฉพาะทางต่อไป ซึ่งไม่ว่าพวกเขาจะเลือกทำอะไรต่อไป ผมก็พยายามทำให้พวกเขามั่นใจว่า ผมอยู่เคียงข้างพวกเขาและจะเป็นกำลังใจให้พวกเขาสามารถก้าวผ่านประสบการณ์ที่มีปัญหาทางจิตนี้ไปให้ได้
3. สุขภาพจิตของคุณก็สำคัญเช่นกัน!
สิ่งที่ทำให้การดูแลให้กำลังใจคนที่กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตของผมได้ผลดีก็คือ การที่ผมได้ดูแลสภาพจิตใจของตัวเองอย่างเหมาะสมด้วย เมื่อไม่นานมานี้ผมไปพบกับหมอประจำตัวเพื่อให้เขาส่งไปพบกับจิตแพทย์ เพราะสภาวะที่เกิดในปี 2020 ได้กระทบกระเทือนจิตใจของผม ที่บ้าน ผมรู้สึกเหมือนออกห่างจากคนในครอบครัว และในที่ทำงาน ผมก็รู้สึกท้อแท้เหนื่อยล้าและเครียดสะสม
การได้พบจิตแพทย์และได้พูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ได้เจอเป็นการระบายที่ทำให้รู้สึกดีมาก มันช่วยให้ผมสามารถจัดการกับความเครียดได้อย่างเหมาะสม
สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยปรับสภาพจิตใจของผมแต่ยังช่วยให้ผมสามารถที่จะดูแลผู้อื่นได้ดีขึ้น เพราะผมดูแลตัวเองอย่างดีก่อน
YOU MAY ALSO LIKE
จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าฉันไม่อยากอ่านพระคัมภีร์หรืออธิษฐาน
WRITER: ฉีฉี ต้นฉบับภาษาอังกฤษจาก YMITRANSLATOR: นิศารัตน์ มั่นเกตุEDITOR: กรชวัล เพชรเลิศอนันต์ มันเป็นอีกหนึ่งวันที่ยาวนาน ในระหว่างที่ดูแลพวกลูกๆ สะสางงานต่างๆ ก็แทบจะไม่มีเวลาให้ได้พักหายใจเลย เมื่อลูกๆ...
ฉันมีส่วนรับผิดชอบในความรอดของเพื่อนหรือไม่?
WRITER: เมดาลีน คาลู ต้นฉบับภาษาอังกฤษจาก YMITRANSLATOR: PinkEDITOR: Thitikarn Nithiuthai (Mesy) ฉันยังจำช่วงเวลาที่ฉันเริ่มต้นความสัมพันธ์กับพระเยซูได้ ราวกับว่าเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ทุกอย่างเริ่มต้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในช่วงที่อากาศหนาวเย็นของเดือนมกราคม ฮันนาห์...
เสียงที่ดังพอ
WRITER: GRACESaoriEDITOR: Mustard Seed Team เคยไหม? ที่ในบางครั้งเสียงของใครบางคนก็ดังกว่าเสียงของตัวเอง เสียงนี้มักดังเร้าอยู่ภายในใจ บ่อยครั้งในเมื่อเราอยู่ในช่วงที่คิดไม่ตก ฟุ้งซ่าน หาทางออกไม่เจอหลายๆ สิ่ง แต่จะมีเสียงๆ นี้แหละ ที่กลับดังขึ้นมาหัวใจ...