Artwork by: YMI
TRANSLATOR: ณัฐฤทัย อาสาประโคน
EDITOR: ใจทิพย์ อยู่มั่น
คำบรรยาย : มีหลายสิ่งที่เราต้องต่อสู้ในขณะที่เราเติบโตฝ่ายจิตวิญญาณ แต่เพราะสิ่งเหล่านั้นถูกทำให้เป็นเรื่อง “ปกติ” (นี่… ใครๆ ก็รู้สึกแบบเดียวกันทั้งนั้นแหละ) เราเลยไม่มองว่ามันเป็นปัญหาความไม่พอใจในสิ่งที่ตนมีเหรอ? (ใครไม่เคยรู้สึกแบบนั้นบ้างล่ะ?) กังวลกับเรื่องชีวิตตลอดเวลา? (ใครไม่เคยกังวลบ้างถามจริง?) ไม่รู้สึกขอบคุณมากพอ (เอาล่ะ เอาล่ะ มันก็ใช่ที่เราควรรู้สึกขอบคุณมากกว่านี้)
เราอาจได้ฟังคำเทศนาเรื่องนี้มาเป็นพันครั้งและได้ฟังจนเบื่อ บางคนอาจคิดว่า “ฉันก็เป็นของฉันแบบนี้อยู่แล้ว”
แต่ความคิดนั้นอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าในระยะยาวได้ เช่นเดียวกับความขัดแย้ง หากไม่ถูกแก้ไขก็จะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ขมขื่นมากขึ้นเรื่อยๆ การไม่รับรู้ถึงปัญหาเหล่านี้จะทำให้เราได้ยินความจริงจากพระคำและมีความชื่นชมยินดีในพระองค์ได้ยากขึ้น
บางที เราต่อสู้เพื่อวางใจในพระเจ้าแต่ก็เหมือนจะหยุดอยู่กับที่ เป็นไปได้ไหมว่าปัญหาต่อไปนี้กำลังฉุดรั้งเราอยู่?
1. วัตถุนิยมและความไม่พอใจในสิ่งที่ตนเองมี (“ถ้าฉันมีเพิ่มอีกสักหน่อย…)
คุณกำลังเล่นอินสตาแกรมอยู่แล้วดันมีโฆษณาออนไลน์โผล่ขึ้นมา คุณไม่เคยอยากได้รองเท้ากีฬาคู่ใหม่หรือกระเป๋าสะพายหรือเก้าอี้นั่งพื้นเลย แต่คุณดันกด “ซื้อ” แค่เพราะเห็นราคาของมัน รู้ตัวอีกทีคุณก็ใช้เวลาไปสองชั่วโมงเลื่อนดูของเหล่านั้น
มันไม่ผิดเลยนะที่เราอยากซื้อของในราคาที่เราจ่ายไหวและมีความสุขกับมันได้ แต่หลายครั้งอะไรก็ตามที่เริ่มจาก “ความพึงพอใจ” ที่ช่วยให้เราลืมความน่าเบื่อในแต่ละวันได้ มักโจมตีเราโดยที่เราไม่รู้ตัวเพราะเราอยู่ในโลกที่ล่อลวงโดยการขายของและเสนอสิ่งที่เราปรารถนาอยู่ตลอดเวลา ยิ่งเราเห็นมาก ยิ่งเกิดกิเลสมาก หรือยิ่งเราซื้อมาก ก็ยิ่งอยากได้ของอย่างอื่นเพิ่มขึ้นไปอีกเช่นกัน
เมื่อไรก็ตามที่ตะกร้าสินค้าหรือรายการของที่อยากได้กลายเป็นความสุขของเรา (ถ้าฉันมีสิ่งนี้ ฉันจะมีความสุข!) เราต้องรู้ตัวแล้วว่าใจของเราเริ่มออกนอกเส้นทางไปแล้ว อย่างที่นักเขียนทิช วอร์เรนอธิบายว่า “บริโภคนิยมไม่ได้เป็นแค่เพียงการบริโภค แต่คือการผูกใจเราเข้ากับการครอบครองสิ่งใหม่หรือสิ่งที่ดีกว่า… (โดยปกติแล้ว) มันคือความเชื่อที่แฝงอยู่ลึกๆ ว่ายิ่งเราซื้อของมากหรือออกไปเที่ยวมากหรือมีประสบการณ์ที่ถูกต้องจะทำให้เรารู้สึกเติมเต็ม”
แต่อย่างที่ผู้เขียนพระธรรมปัญญาจารย์บอกไว้ (จากผู้มีประสบการณ์โดยตรงเลยนะ!) ว่าความสนุกสนานเพลิดเพลินไม่มีประโยชน์อะไรเลย (ปัญญาจารย์ 2:10-11) และคนที่มีความต้องการมากจะไม่รู้จักคำว่า “พอ” (ปัญญาจารย์ 5:10-11) ขนาดพระเยซูยังออกมาเตือนเราว่า “ชีวิตของคนไม่ได้อยู่ที่การมีของฟุ่มเฟือย” (ลูกา 12:15) เพราะพระองค์รู้ว่าเราอ่อนแอแค่ไหนในเรื่องแบบนี้
พระธรรม 1 ทีโมธี 6:6-8 ได้หนุนใจเราเพื่อช่วยจัดการความต้องการกับเรื่องพวกนี้ว่า “อันที่จริง การอยู่ในทางของพระเจ้าพร้อมกับการมีความพึ่งพอใจก็เป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแล้ว เพราะว่าเราไม่ได้เอาอะไรเข้ามาในโลกเช่นไร เราก็เอาอะไรออกไปจากโลกไม่ได้เช่นกัน ถ้ามีอาหารและเสื้อผ้า เราก็ควรพอใจในสิ่งเหล่านั้น”
ในที่สุดแล้ว สิ่งที่เราไล่ตามหากับความปรารถนาของเราจะค่อยๆ เลือนรางหรือหายไป รวมถึงความสุขชั่วคราวที่เราได้จากมันด้วย แทนที่เราจะผูกติดกับสิ่งของชั่วคราวเหล่านั้น เราสามารถแสวงหาพระเจ้าและวางใจว่าพระองค์จะจัดเตรียมสิ่งที่จำเป็นต่อเราเอาไว้ จงอยู่ในน้ำพระทัยของพระเจ้าแล้วเรียนรู้ว่าความสุข ความพอใจที่แท้จริงและยั่งยืนนั้นมาจากพระองค์
2. ความกังวลตลอดเวลา “ฉันเครียดตลอดเลย มีอะไรใหม่บ้างไหม?”
กำหนดส่งโครงการใหญ่นี้ใกล้เข้ามาแล้วและความเครียดนี้ก็ทำเอาคุณนอนไม่หลับทุกคืนเลย มีข่าวลือว่าบริษัทกำลังลดค่าใช้จ่ายและคุณไม่รู้ว่าคุณจะเป็นหนึ่งในคนที่โดนปลดออกหรือไม่
คุณพูดเรื่องงี่เง่านี้ไปหนหนึ่ง มันเลยทำให้คุณหยุดคิดไม่ได้ว่าคนอื่นจะมองคุณยังไง (*กดดันตัวเองในใจ*)
ความกังวลกลายเป็นส่วนหนึ่งในตัวตนของเราไปซะแล้ว ทำไมเราต้องกังวลขนาดนั้นล่ะ? เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะอยู่เหนือการควบคุมไงละ! แถมโลกยังคอยบอกว่ามัน “อยู่ที่ตัวเรา” ว่าจะต้องใช้ชีวิตให้ดีและต้องประสบความสำเร็จ เรากังวลเพราะเรามีความเชื่ออันแสนน้อยนิดในความดีงามของพระเจ้า (มัทธิว 6:30) ซึ่งเรานิยามขึ้นมาเองจากสถานการณ์ของเรา
เพราะเหตุนี้พระเยซูจึงบอกกับเราในมัทธิว 6:25-34 เป็นคำพูดยอดฮิตติดหูว่า “อย่ากระวนกระวายเลย” พระองค์ไม่ได้พูดเพราะต้องการตำหนิเรา แต่เพื่อให้เราปรับมุมมองของเราใหม่ไม่ให้ความกังวลนั้นกลืนกินตัวเราไป
หลายครั้งที่เรากังวลเพราะเราคิดว่าเราไม่มีใครและถ้าเราไม่ทำอะไรให้สำเร็จสักอย่างเราจะต้องแย่แน่ แต่ถ้าเราอ่านในข้อที่ 25 ให้ดีๆ “ชีวิตสำคัญยิ่งกว่าอาหารไม่ใช่หรือ? และร่างกายสำคัญยิ่งกว่าเครื่องนุ่งห่มไม่ใช่หรือ?” เราจะจำได้แม่นเลยว่าชีวิตของเราคือ ของขวัญจากพระเจ้านี่เองและชีวิตของเรานั้นมีค่าและสำคัญเหนือความกังวลใดๆ ที่เราสร้างขึ้นในหัวเสียด้วย ถ้าพระเจ้ารักเราขนาดที่ ให้ชีวิตทั้งชีวิตกับเรา พระองค์จะไม่คอยดูแลเราเชียวหรือ และไม่ใช่ว่าสายพระเนตรของพระองค์สำคัญยิ่งกว่าความเห็นของคนอื่นต่อเราหรือ
และถ้าเราอ่านต่อไปในข้อที่ 27 “มีใครในพวกท่านที่โดยความกระวนกระวายสามารถต่ออายุของตนให้ยืนนานขึ้นอีกนิดหนึ่งได้” ให้เราหยุดและตกตะกอนตรงนี้ การที่เราใช้เวลาทุกชั่วยาม เอาแต่คิดวกไปวนมาแต่กับเรื่องงานจะทำให้เรามีเวลามากขึ้นไหม? แล้วมันจะช่วยให้เราทำงานเสร็จหรือลดปริมาณงานลงได้หรือเปล่า? นี่คือเหตุผลที่พระธรรมสดุดีบทที่ 127 ได้เตือนเราเช่นกันว่าเราไม่สามารถพึ่งพาแต่กำลังของตัวเองเพราะพระเจ้าคือผู้ที่ทำให้การงานสำเร็จและพระองค์ยังคอยดูแลเราเสมอ (ข้อ 1-3)
ความกังวลเกิดขึ้นได้แต่ไม่จำเป็นที่มันจะต้องอยู่ในเราตลอดเวลา พระสัญญาของพระเยซูที่ว่า “แต่ว่าพระบิดาของพวกท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงทราบแล้วว่าท่านต้องการสิ่งทั้งปวงนี้” (มัทธิว 6:32) คือยาที่เราต้องกินทุกวันเพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานต่อโรควิตกกังวลนี้
3. การไม่ขอบพระคุณ (“ฉันไม่รู้จะขอบคุณเรื่องอะไร…”)
ไม่ใช่ว่าเราไม่เคยมีเรื่องให้ขอบพระคุณเลยนะแต่มันก็ยากเพราะชีวิตที่ผ่านมามันก็ไม่ได้ดีสักเท่าไหร่ แน่นอนว่าเราอาจจะแค่เจอวันแย่ๆ เยอะหน่อย แต่เหนือกว่านั้นคืออะไรกันแน่ที่ทำให้เราไม่รู้สึกอยากจะขอบพระคุณ
บางทีอาจจะเป็นเพราะเรามักมองโลกในแง่ลบไป เพราะว่าถูกฝึกมาตั้งแต่เด็กว่าให้มองแง่ร้ายที่สุดไว้ก่อนหรือเราอาจถูกฝึกให้ต้องพัฒนาชีวิตตลอดเวลาและคิดว่าความสำเร็จแค่บางเรื่องเท่านั้นที่น่ายินดี เช่น เรียนดี จบเกียรตินิยม ได้ขึ้นเงินเดือน/เลื่อนขั้น เจอคนพิเศษ ได้แต่งงาน แล้วพอเราไม่มีอะไรตามนั้นเลย เราก็เลยสงสัยว่า “แล้วจะให้ขอบคุณเรื่องอะไรกัน?”
สิ่งที่ควรรู้คือการขอบคุณตามพระคัมภีร์นั้นไม่ใช่แค่การมองโลกสวย มันไม่ใช่การเป็นคนน้ำครึ่งแก้ว ม้ันไม่เกี่ยวด้วยซ้ำว่าเรารู้สึกยังไง
แค่พระธรรมสดุดีเล่มเดียวก็พูดถึง 20 ครั้งแล้ว (ในฉบับ NIV) ว่า “จงขอบพระคุณ” และทั้งหมดคือการขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับ “ความชอบธรรม” “การอัศจรรย์” “ความดี” และ “ความรักมั่นคง” ของพระองค์ (เช่น พระธรรมสดุดี 107) แต่พระเจ้าก็ไม่ได้บ้ายอจนมาบังคับให้เราขอบพระคุณเพราะทำให้พระองค์รู้สึกดีสักหน่อย คำสรรเสริญกับการขอบพระคุณของเราไม่ได้ทำให้พระองค์ยิ่งใหญ่กว่านี้ได้ และไม่ใช่ว่าทำแล้วจะ “แลก” กับการให้พระองค์มาฟังเราได้นะ
พระเจ้าเรียกให้เราขอบพระคุณ เพราะพระองค์รู้ว่ามันดีต่อจิตวิญญาณของเรา พระองค์รู้ว่าการไม่ขอบพระคุณจะถ่วงจิตวิญญาณของเรา และยากกว่าเดิมที่จะทำให้เรามองเห็นความดี ความซื่อสัตย์ และความรักของพระองค์ที่มีต่อเรา การขอบพระคุณมีไว้เพื่อนำเราเข้าใกล้พระเจ้าและเพื่อให้ใจเราจดจ่อที่พระองค์
เราอาจคิดว่าถ้าจะขอบพระคุณพระเจ้าได้ก็ต้องรู้สึกขอบคุณจริงๆ ก่อน แต่ก็มีบางครั้งที่ถ้าจะรู้สึกขอบพระคุณได้ ก็ต้องฝึกที่จะขอบพระคุณพระเจ้าก่อน
และพระคัมภีร์ก็ทำให้เราเห็นว่า การขอบพระคุณสามารถเกิดขึ้นพร้อมกับความตรากตรำ (ดูอย่างในหนังสือพระธรรมสดุดีบทที่ 35 และ 69) และสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ (2 โครินธ์ 1:3-11 และ 1 เธสะโลนิกา 2:2,13 เราจะเห็นว่าเปาโลขอบพระคุณทั้งที่ยังถูกข่มเหง ไม่ใช่เพราะสถานการณ์ของเขาดีขึ้น แต่เพราะข่าวประเสริฐกำลังแพร่กระจายออกไป)
ตัวอย่างเหล่านี้ทำให้เห็นว่าการขอบพระคุณล้วนเพื่อนำเราเข้าใกล้พระเจ้าท่ามกลางความลำบากและฝึกให้เราเรียนรู้ที่จะมองข้ามสถานการณ์ของเราไปที่ความดีของพระองค์
ตัวอย่างเหล่านี้อาจฟังดูยากถ้าเราต้องขอบพระคุณด้วยกำลังตัวเองเพียงลำพัง เราถึงต้องมีความเข้าใจว่าการขอบพระคุณเป็นทั้งพระบัญชาเพื่อให้เราเชื่อฟัง ทำตามและเป็นการเปิดใจให้พระวิญญาณทำงานภายในเราด้วย (เอเฟซัส 5:18-20, โคโลสี 3:15-16, ฟีลิปปี 2:12-15)
หากคุณรู้สึกลำบากกับทั้งสามเรื่องที่กล่าวมา วันนี้ก็เป็นโอกาสดีที่คุณจะถ่อมใจและขอให้พระเจ้าช่วย (ฮีบรู 3:12-13, มาระโก 9:24) และรู้ว่าพระเจ้าอยากประทานพระคุณของพระองค์ให้คุณด้วย พระองค์มองคุณด้วยพระทัยสุภาพและพระองค์เห็นใจเสมอเวลาที่คุณลำบาก พระคุณความรักของพระเจ้าไม่มีที่สิ้นสุด พระองค์ประสงค์จะอุ้มชูและเสริมกำลังคุณ (ฮีบรู 12:10-12) พระองค์พร้อมที่จะรักษาคุณและดึงสิ่งที่ดีที่สุดในตัวคุณออกมาเสมอ เพื่อพระเกียรติและความชอบพระทัยของพระองค์
YOU MAY ALSO LIKE
จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าฉันไม่อยากอ่านพระคัมภีร์หรืออธิษฐาน
WRITER: ฉีฉี ต้นฉบับภาษาอังกฤษจาก YMITRANSLATOR: นิศารัตน์ มั่นเกตุEDITOR: กรชวัล เพชรเลิศอนันต์ มันเป็นอีกหนึ่งวันที่ยาวนาน ในระหว่างที่ดูแลพวกลูกๆ สะสางงานต่างๆ ก็แทบจะไม่มีเวลาให้ได้พักหายใจเลย เมื่อลูกๆ...
ฉันมีส่วนรับผิดชอบในความรอดของเพื่อนหรือไม่?
WRITER: เมดาลีน คาลู ต้นฉบับภาษาอังกฤษจาก YMITRANSLATOR: PinkEDITOR: Thitikarn Nithiuthai (Mesy) ฉันยังจำช่วงเวลาที่ฉันเริ่มต้นความสัมพันธ์กับพระเยซูได้ ราวกับว่าเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ทุกอย่างเริ่มต้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในช่วงที่อากาศหนาวเย็นของเดือนมกราคม ฮันนาห์...
เสียงที่ดังพอ
WRITER: GRACESaoriEDITOR: Mustard Seed Team เคยไหม? ที่ในบางครั้งเสียงของใครบางคนก็ดังกว่าเสียงของตัวเอง เสียงนี้มักดังเร้าอยู่ภายในใจ บ่อยครั้งในเมื่อเราอยู่ในช่วงที่คิดไม่ตก ฟุ้งซ่าน หาทางออกไม่เจอหลายๆ สิ่ง แต่จะมีเสียงๆ นี้แหละ ที่กลับดังขึ้นมาหัวใจ...