fbpx
WRITER: เดวิด ฟรีส์ ต้นฉบับภาษาอังกฤษจาก YMI
TRANSLATOR: ณัฐพร ชังเจริญ
EDITOR: ฐิติกานต์ นิธิอุทัย

เดวิด ฟรีส์ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาออนไลน์ของ Our Daily Bread University และยังเคยทำงานในด้านพัฒนาหลักสูตร,  สิ่งพิมพ์ดิจิทัล, การสร้างคริสตจักร, การพัฒนาเกมส์ และงานเขียนเป็นเวลาหลายปี เขาใช้เวลาว่างไปกับการแบกเป้เที่ยว เล่นเกมส์ออนไลน์  เล่นหมากรุก และการอ่านหนังสือ

พวกเราส่วนใหญ่เติบโตมากับการยอมรับในสิ่งที่ถูกสอนว่าเป็นความจริง เมื่อเรายังเด็กเราถูกสอนว่าโลกกลม ไม่ใช่แบน มี 7 ทวีป และจักรวาลรอบตัวเราประกอบด้วยอนุภาคเล็กๆ ที่เรียกว่าอะตอม ซึ่งในตัวมันเองนั้นก็ยังประกอบไปด้วยอนุภาคที่เล็กกว่าอีกมากมาย

ถ้าเราเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ยึดถือความเชื่อแบบคริสเตียน เราก็จะได้เรียนรู้เรื่องราวของอับราฮัม โยเซฟ ดาวิด พระเยซู และคนอื่นๆ และยอมรับเรื่องราวเหล่านั้นว่าเป็นเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ เราถูกสอนว่ามีพระเจ้าอยู่จริง พระคัมภีร์เป็นการเปิดเผยของพระเจ้าต่อมนุษย์ และพระเยซูเป็นพระบุตรองค์เดียวของพระเจ้าที่ได้สิ้นพระชนม์เพื่อบาปของโลกและฟื้นคืนพระชนม์จากความตาย โดยทางนั้นจึงมอบชีวิตนิรันดร์ให้แก่ผู้ที่ติดตามพระองค์

ไม่ว่าเราจะเติบโตมาในครอบครัวคริสเตียน หรือมารับเชื่อเป็นคริสเตียนในภายหลัง แต่ในบางครั้งเราอาจสงสัยว่าสิ่งที่เราถูกสอนมานั้นเป็นความจริงหรือเปล่า

บางครั้งคุณอาจถูกท้าทาย หรือเคยถามตัวเองด้วยคำถามที่ว่า “ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าพระเยซูทรงเป็นขึ้นจากความตาย?” “ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อความในพระคัมภีร์เป็นความจริง ไม่ได้ประกอบไปด้วยข้อผิดพลาด หรือการเติมแต่งของบุคคลทั้งหลายในอดีต?” หรือ “ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่ามีพระเจ้าอยู่จริง?” เหล่านี้เป็นคำถามทั่วไปที่ถามถึงความเชื่อแบบคริสเตียนที่มีมาหลายยุคหลายสมัย และนี่ล้วนเป็นคำถามที่ผู้เชื่อทุกคนควรเตรียมคำตอบ ทั้งสำหรับตัวเองและผู้อื่น

หนึ่งในข้อพระคัมภีร์ที่ชัดเจนมากที่สุดที่สอนเหล่าผู้เชื่อให้พร้อมในการตอบคำถามประเภทนี้อยู่ในพระธรรม 1 เปโตร 3:15 เพื่อให้เข้าใจบริบทบางประการ พระธรรม 1 เปโตร  ถูกเขียนถึงผู้เชื่อซึ่งอยู่กระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่ ซึ่งในปัจจุบันเป็นประเทศตุรกี และผู้เชื่อซึ่งถูกข่มเหงเนื่องจากความศรัทธาของพวกเขา โดยแท้จริงแล้ว จุดมุ่งหมายของเปโตรในการเขียนจดหมายฉบับนี้คือ เพื่อหนุนใจผู้เชื่อทั้งหลายให้ดำเนินชีวิตอย่างสัตย์ซื่อและบริสุทธิ์แม้จะเผชิญความทุกข์ยาก

ท่านเขียนไว้ใน 1 เปโตร 3:15-16 ว่า “…แต่ในใจของพวกท่าน จงเคารพนับถือพระคริสต์ว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า จงเตรียมพร้อมเสมอ ที่จะอธิบายกับทุกคนที่ขอทราบเหตุผลเกี่ยวกับความหวังของพวกท่าน แต่จงตอบด้วยความสุภาพอ่อนโยนและด้วยความนับถือ…” จากข้อพระคัมภีร์นี้ เปโตรได้นำเสนอความท้าทายหลักๆ ไว้สองประการด้วยกัน

การทรงเรียกให้เคารพนับถือพระคริสต์

ประการแรก เมื่อเข้ามาเป็นผู้เชื่อ พวกเราได้รับการท้าทายให้ “ เคารพนับถือพระคริสต์ว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าในใจของพวกเรา ความหมายของคำว่า เคารพนับถือ มาจากคำกริยาภาษากรีก hagiázō ซึ่งหมายถึงการกระทำของการปฏิบัติต่อบางสิ่งด้วยความยำเกรง หรือมองสิ่งนั้นว่าเป็นสิ่งที่แยกจากสิ่งธรรมดาทั่วไป

อะไรคือสิ่งที่เปโตรได้ขอให้ผู้อ่านจดหมายของท่านและเราทำ เมื่อกล่าวว่า บริสุทธิ์ เคารพ  ถวายเกียรติ เคารพนับถือพระคริสต์ว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าในใจของเรา? กล่าวโดยง่าย เปโตรได้ขอให้ผู้เชื่อระลึกว่า พระคริสต์เป็นผู้ที่แตกต่าง  บริสุทธิ์ และพิเศษ

เมื่อเราเคารพนับถือพระคริสต์ด้วยใจของเรา เราจะให้พระองค์มาก่อนสิ่งอื่นใด

นั่นคือ เรากำลังทำให้พระประสงค์ของพระองค์มาก่อนความคิด การกระทำ และคำพูดของเรา นำมาซึ่งการตัดสินใจที่ยกย่องและถวายเกียรติแด่พระเจ้าผ่านการดำเนินชีวิตของเรา สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกไว้ว่า คำตักเตือนของเปโตรที่ให้ยกย่องพระคริสต์ คือ การยอมรับเอาความจริงที่ว่าชีวิตของเราแต่ละคนได้รับการไถ่แล้ว โดยยอมรับความจริงที่เปลี่ยนแปลงชีวิตโดยที่พระเยซูทรงสละพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาเพื่อไถ่บาปของพวกเรา เราจึงสามารถยกย่องพระองค์อย่างแท้จริงว่าเป็นพระเจ้า และการยกย่องพระเยซูคริสต์ในชีวิตประจำวันของเราเริ่มต้นได้ด้วยการยอมรับว่าพระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอด และติดตามพระองค์ในฐานะพระเจ้า ผ่านทางความจงรักภักดีอย่างสัตย์ซื่อที่มีในพระคริสต์ เราก็จะวางรากฐานเพื่อปกป้องความเชื่อของเราได้อย่างมั่นคง

การทรงเรียกให้ปกป้องความเชื่อของเรา

ประการที่สอง ไม่เพียงแต่เราจะถูกสอนให้ยกย่องพระคริสต์ เปโตรยังท้าทายให้เราเตรียมพร้อมที่จะตอบคำถามว่าทำไมเราจึงเชื่อในสิ่งที่เราเชื่ออีกด้วย

ศาสตร์ของการให้เหตุผลในสิ่งที่เราเชื่อเมื่อเข้ามาเป็นผู้ติดตามของพระคริสต์ เรียกว่า ศาสตร์การปกป้องความเชื่อของคริสเตียน (Christian Apologetics) คำว่า apologetics ถูกรับมาจากคำภาษากรีกว่า apologia ในศตวรรษแรกช่วงยุคสมัยของเปโตร คำนี้หมายถึงธรรมเนียมการพิจารณาเตรียมพร้อมสำหรับการพิสูจน์ว่าความทางกฎหมาย หรือกรณีพิพาท มักใช้เพื่อแก้ไข้ปัญหาจากการเรียกเก็บภาษี หรือการปกป้องตำแหน่งหน้าที่และจุดยืนในเรื่องต่างๆ เช่น จุดยืนในความคิดเห็นทางปรัชญา เป็นต้น เปโตรจึงนำคำนี้มาใช้เพื่ออ้างถึงการปกป้องความหวังที่มาจากความเชื่อในพระเยซู

คำว่า apologia ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ถึง 8 ครั้ง

การใช้คำว่า apologia ชี้ให้เห็นว่าความเชื่อในคริสต์ศาสนาไม่ได้เป็นความเชื่องมงาย แต่เป็นความเชื่อที่เป็นเหตุเป็นผล เป็นความเชื่อที่สามารถอธิบายและพิสูจน์ได้ด้วยข้อเท็จจริง

นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะโต้แย้งกับบุคคลอื่นในเรื่องความรอดได้ ในพระธรรมเอเฟซัส 2:8-9 เรารู้ว่าความรอดเกิดขึ้นได้โดยความเชื่อในพระคุณของพระเจ้าเท่านั้น จุดมุ่งหมายของการอธิบายความเชื่อจึงเป็นการเตรียมทางไปสู่ความเชื่อโดยการเปิดให้ผู้ที่ไม่เชื่อได้มองเห็นชัดเจนว่าศาสนาคริสต์สอนอะไรบ้าง ข้อเท็จจริงไม่ได้ทำลายความเชื่อ แต่เป็นการสนับสนุนความเชื่อ

โดยสวนทางกับความคิดของคนทั่วไป คำว่า apologia ไม่ได้หมายความถึง apologize หรือการขอโทษ แม้คำภาษาอังกฤษนี้จะมีรากมาจากภาษากรีกโบราณก็ตาม ในฐานะผู้เชื่อ เราไม่ได้ถูกเรียกให้ขอโทษสำหรับความจริงของพระเจ้า หรือความเชื่อของเรา แต่พวกเราต่างถูกเรียกให้ลุกขึ้นปกป้องความเชื่อนั้น

เมื่อเราแสวงหาความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อของคริสเตียนและสื่อสารความเข้าใจนั้นไปสู่ผู้อื่น เรากำลังรักพระเจ้าด้วยความคิดของเรา (มาระโก 12:30) และเมื่อเรารักพระเจ้าด้วยความคิด เราจะรู้มากขึ้นว่าทำไมเราจึงเชื่อในสิ่งที่เราเชื่ออยู่นี้ เมื่อเราใคร่ครวญถึงพระวจนะของพระเจ้าและเรียนรู้ที่จะ “ถวายตัวเราเองที่พระเจ้าทรงรับรองแล้ว” (2 ทิโมธี 2:15) เราก็ได้เตรียมพร้อมสำหรับการตอบคำถามที่ถูกถามโดยโลกที่ล้อมรอบเราอยู่ เพราะเหตุนั้น อย่ารักพระเจ้าเพียงแต่หัวใจ จิตวิญญาณ และกำลัง แต่ให้รักพระองค์ด้วยความคิดเช่นเดียวกัน

ความหวังของผู้เชื่อ

การท้าทายทั้งสองประการของเปโตรที่ให้เราเคารพนับถือพระคริสต์ในฐานะพระเจ้าในชีวิตของเรา และพร้อมที่จะให้คำตอบแก่ผู้ที่ถามเกี่ยวกับความเชื่อของเรา รวมถึงจุดศูนย์รวมแห่งความหวังของผู้เชื่อที่ว่า ”…แต่ในใจของพวกท่าน จงเคารพนับถือพระคริสต์ว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า จงเตรียมพร้อมเสมอ ที่จะอธิบายกับทุกคนที่ขอทราบเหตุผลเกี่ยวกับความหวังของพวกท่าน แต่ความหวังแบบไหนกันที่เราถูกเรียกให้ปกป้อง?

ต่างจากการที่บางคนให้คำนิยามอย่างในทุกวันนี้ คำว่า ความหวัง (elpís) ไม่ได้หมายถึง “ความเชื่อลอยๆ” แนวคิดของความหวังในพันธสัญญาใหม่ เมื่อกล่าวโดยตรงถึงพระเจ้า หมายถึงความคาดหวังที่แน่นอน หรือการรอคอยอย่างอดทนต่อบางสิ่งบางอย่างที่พระเจ้าจะประทานให้

ความหวังของเราในพระเจ้าเป็นที่ประจักษ์จากสิ่งที่พระองค์ทรงทำในอดีต สิ่งที่พระองค์ทรงทำในชีวิตของพวกเรา ณ ปัจจุบัน และสิ่งที่พระองค์ทรงสัญญาว่าจะทำในอนาคต

นบริบทของพระธรรม 1 เปโตร 3:15 การใช้คำว่า “ความหวัง” ของเปโตร เป็นตัวแทนของความเชื่อคริสเตียนโดยรวม หรือถ้าให้เจาะจงเป็นพิเศษ คำนี้ยังหมายถึง ความหวังที่พวกเราได้รับมาผ่านการไถ่ให้พ้นบาป-เป็นความหวังที่แตกแยกย่อยไปได้หลายประการ

ประการแรก เพราะโดยพระเยซูคริสต์ เราจึงมีความหวังว่าบาปของเราจะได้รับการอภัย ในเอเฟซัส 1:7 เปาโลย้ำเตือนเหล่าผู้เชื่อว่า ในพระเยซูคริสต์นั้น เราได้รับการไถ่โดยพระโลหิตของพระองค์คือได้รับการอภัยจาก ความจริงที่ว่าบาปของเราได้รับการอภัยแล้วหมายความว่า เราจะยืนอยู่ต่อหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้าโดยปราศจากตำหนิและปราศจากการพิพากษา (อ่าน ฮีบรู 9:11-28)

ประการที่สอง เราได้รับชีวิตนิรันดร์ พันธสัญญาที่ยิ่งใหญ่ประการหนึ่งของความเชื่อแบบคริสเตียน คือ พระสัญญาแห่งชีวิตนิรันดร์ที่มีให้สำหรับผู้ที่ถวายตัวแก่พระเยซูคริสต์ ในข้อพระคัมภีร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดกล่าวว่า “เพื่อทุกคนที่วางในในพระองค์ (พระเยซู) จะได้ชีวิตนิรันดร์ พระเจ้าทรงรักโลกดังนี้ คือได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์(ยอห์น 3:15-16)

ประการที่สาม เราได้รับพระสัญญาแห่งสวรรค์ ชีวิตนิรันดร์ที่มอบให้แก่ผู้เชื่อไม่ใช่สภาวะไร้อารมณ์ หรือการมีสติสัมปชัญญะที่ไม่สิ้นสุด แต่เป็นชีวิตนิรันดร์กับพระเจ้า ในยอห์น 14:1-3 พระเยซูตรัสกับสาวกของพระองค์ว่า

อย่าให้ใจของพวกท่านเป็นทุกข์เลย พวกท่านวางใจในพระเจ้า จงวางใจในเราด้วย ในพระนิเวศของพระบิดาเรามีที่อยู่มากมาย ถ้าไม่มีเราคงบอกท่านแล้ว เพราะเราไปจัดเตรียมที่ไว้สำหรับพวกท่าน เมื่อเราไปจัดเตรียมที่ไว้สำหรับท่านแล้ว เราจะกลับมาอีกและรับท่านไปอยู่กับเรา เพื่อว่าเราอยู่ที่ไหนพวกท่านจะได้อยู่ที่นั่นด้วย

สถานที่ที่พระเยซูทรงกำลังจัดเตรียมสำหรับผู้ที่รักพระองค์นั้นถูกบรรยายโดยเปาโลใน 1 โครินธ์ 2:9 ท่านเขียนว่า “สิ่งที่ตาไม่เห็น หูไม่ได้ยิน และสิ่งที่ใจมนุษย์คิดไม่ถึง คือสิ่งที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้สำหรับคนทั้งหลายที่รักพระองค์” เราไม่สามารถจินตนาการได้ว่าสวรรค์เป็นอย่างไร อัศจรรย์เพียงใด หรือสวยงามขนาดไหน

ในขณะที่มีพระสัญญาอีกมากมายในพระเยซูคริสต์ แต่ที่กล่าวไว้ด้านบนทั้ง 3 ประการนั้นได้สรุปองค์ประกอบสำคัญบางประการที่เราจะได้รับเมื่อความหวังของเราอยู่ในพระองค์

สุดท้าย สิ่งสำคัญที่ควรระลึกไว้คือ เมื่อตอบคำถามของผู้อื่นเกี่ยวกับความหวังของเรา เรากำลังแสดงทัศนคติด้วยความสุภาพอ่อนโยนและความเคารพ บ่อยครั้งคริสเตียนถูกมองว่าขาดความอดทนอดกลั้นเมื่อกล่าวถึงแนวปฏิบัติและความเชื่อของคนอื่นๆ รอบตัว น่าเศร้าเพราะในบางครั้งมันเป็นความจริง แต่มันไม่ควรเป็นเช่นนั้น

เมื่อความเชื่อของเราถูกท้าทายในฐานะผู้ติดตามพระคริสต์ เราไม่ได้ถูกเรียกให้ตอบโต้ด้วยความโกรธ, ความเกลียดชัง หรือความไม่พอใจ แต่ให้ตอบโต้ด้วยความเมตตา, ความเคารพ และความเห็นอกเห็นใจแทน

เราควรจำไว้ว่า “ท่าทีบางอย่างที่เราพูดสำคัญพอๆ กับสิ่งที่เราพูด” ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายของพระคริสต์ พันธกิจของเราคือ เป็นแสงสว่างแก่ผู้ที่ยังไม่รู้จักพระองค์ เป็นแบบอย่างที่มีชีวิตของพระวิญญาณของพระเจ้าที่อยู่ในเรา และตอบคำถามของผู้ที่กำลังแสวงหาที่จะรู้จักพระเจ้าด้วยความกรุณา

YOU MAY ALSO LIKE

ฉันมีส่วนรับผิดชอบในความรอดของเพื่อนหรือไม่?

ฉันมีส่วนรับผิดชอบในความรอดของเพื่อนหรือไม่?

WRITER: เมดาลีน คาลู ต้นฉบับภาษาอังกฤษจาก YMITRANSLATOR: PinkEDITOR: ฐิติกานต์ นิธิอุทัย ฉันยังจำช่วงเวลาที่ฉันเริ่มต้นความสัมพันธ์กับพระเยซูได้ ราวกับว่าเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ทุกอย่างเริ่มต้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในช่วงที่อากาศหนาวเย็นของเดือนมกราคม ฮันนาห์...

เสียงที่ดังพอ

เสียงที่ดังพอ

WRITER: GRACESaoriEDITOR: Mustard Seed Team เคยไหม? ที่ในบางครั้งเสียงของใครบางคนก็ดังกว่าเสียงของตัวเอง เสียงนี้มักดังเร้าอยู่ภายในใจ บ่อยครั้งในเมื่อเราอยู่ในช่วงที่คิดไม่ตก ฟุ้งซ่าน หาทางออกไม่เจอหลายๆ สิ่ง แต่จะมีเสียงๆ นี้แหละ ที่กลับดังขึ้นมาหัวใจ...

ช่วยด้วย! ฉันหยุดคิดมากไม่ได้

ช่วยด้วย! ฉันหยุดคิดมากไม่ได้

WRITER: เรเชล มอร์แลนด์ ต้นฉบับภาษาอังกฤษจาก YMITRANSLATOR: JoshuaEDITOR: สรสิทธิ์ ฑัมมารักขิตานนท์ ฉันมือสั่นขณะที่ฉันกำลังว้าวุ่นกับการหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตในมือถือว่าเกิดอะไรขึ้นกับฉัน ไม่กี่วินาทีต่อมา...

Share This