WRITER: ต้นฉบับภาษาอังกฤษจาก YMI
TRANSLATOR: Natty Grace
EDITOR: ณัฐรวี ยุ้งทอง
เขียนโดย Alpha Asia Pacific และศาสนาจารย์ Abel Cheah ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนาความเป็นผู้นำ แห่ง Alpha Asia Pacific และศิษยาภิบาล ณ Holy Trinity Bukit Bintang
ในขณะที่โลกได้เริ่มตื่นขึ้นหลังจากการหลับใหลในช่วงโควิดที่ผ่านมา มันเหมือนกับว่าเราได้เริ่มทำใจกับสิ่งที่เราสูญเสียไป และได้รู้ตัวว่า สิ่งที่มีอยู่ก็พังทลายไปแล้ว
ในฐานะสาวกของพระคริสต์ เราถูกเรียกให้เป็นความสว่างของโลก ออกไปเป็นแสงของพระคริสต์ (มัทธิว 5:14-16) โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มืดมนแบบนี้ แต่สำหรับพวกเราหลายคนที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้นำหรือดูแลผู้อื่น การนำแสงสว่างและความหวังกลับยากแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อเราเผชิญกับความโกรธเกรี้ยวของสังคมในสถาบันต่างๆ พร้อมกับความรู้สึกลึกๆ ของการเปลี่ยนแปลงและการสูญเสีย
แต่โดยทั้งหมดนี้ เราไม่ได้ถูกทิ้งไว้โดยปราศจากคำชี้แนะ พระเยซูทรงเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยใช้ชีวิตบนโลกมนุษย์ และพระวจนะของพระองค์ที่ทรงตรัสไว้ช่วงแรกๆ ของการปฏิบัติพันธกิจต่อสาธารณชน ช่วยให้เรามีแบบอย่างในการใช้ชีวิตและแนวทางปฏิบัติในช่วงเวลาที่แตกสลาย
นี่คือคำสอน 3 ประการของพระเยซู เพื่อจะช่วยให้นำเราและเคียงข้างไปด้วยกันท่ามกลางการสูญเสีย
1. “คนที่ยากจนด้านจิตวิญญาณก็เป็นสุข เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขาทั้งหลาย” (มัทธิว 5:3)
ในช่วงเริ่มต้นพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ พระองค์ทรงประกาศทั้งพระพรและบทบาทสำหรับ “คนที่ยากจนด้านจิตวิญญาณ” ว่า พวกเขาได้รับการอวยพรและเป็นพลเมืองของอาณาจักรสวรรค์ ในสังคมสมัยนั้น ผู้นำทางศาสนาสร้างโมเดลขึ้นมา ถ้าทำตามกฎเกณฑ์ต่างๆ เหล่านั้นได้จะเป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณเหนือกว่า แต่พระเยซูทรงหักล้างเรื่องนั้นโดยบอกพวกเขาเกี่ยวกับการอวยพรของการยอมรับความยากจนด้านจิตวิญญาณ
การที่เรายากจนฝ่ายจิตวิญญาณนั้นหมายถึงว่า เราตระหนักรู้ถึงความสิ้นหวังของเราที่ต้องการพระเจ้าในชีวิต ในทำนองเดียวกัน หากความมั่งคั่งทำให้เรามีอำนาจในการเลือก การที่เรายากจนทางฝ่ายจิตวิญญาณย่อมหมายถึงการยอมรับว่า “ฉันไม่มีทางเลือกอื่น ไม่มีทางเลือกจริงๆ นอกจากพระคุณของพระเจ้า”
ด้วยสิ่งนี้ เราจึงได้เรียนรู้ว่า การเป็นผู้นำไม่ใช่เรื่องของตำแหน่ง อำนาจ หรือการควบคุม แต่เป็นการอารักขาและความถ่อมใจ
ซึ่งหมายความว่าเราไม่ได้แบกรับภาระในการช่วยเหลือผู้อื่นและแก้ไขปัญหาของพวกเขาไว้กับตัวเราเอง แต่เราได้เรียนรู้ที่จะพึ่งพาพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างแท้จริง เพื่อช่วยชี้แนะให้เราตัดสินใจและยังจัดเตรียมสิ่งจำเป็นให้กับเรา
ผู้นำที่ยากจนฝ่ายจิตวิญญาณจะได้รับความโปรดปรานอย่างมากมาย เพราะบรรดาผู้นำที่ทำภารกิจของพระเจ้าด้วยมือเปล่าแต่เปิดใจกว้างนั้น พร้อมที่จะรับพรจากพระเจ้ามากที่สุด
2. “คนที่โศกเศร้า ก็เป็นสุข เพราะว่าเขาทั้งหลายจะได้รับการหนุนใจ” (มัทธิว 5:4)
การเป็นสุข ไม่ได้เป็นความซาดิสม์ชนิดหนึ่ง (ความสุขที่ได้รับความเจ็บปวด) ที่มักมีคนกล่าวว่า “พระเจ้าชอบเห็นพวกเราโศกเศร้า” ตรงกันข้าม สิ่งนี้พูดถึงความรักอันลึกซึ้งของพระเจ้าที่มีต่อเรา และการทรงสถิตของพระเจ้ากับพวกเราที่โศกเศร้าเนื่องจากการทดลอง การทำผิด การสูญเสีย และความผิดหวัง
ในพระธรรม 2 โครินธ์ 7:10 ได้บอกเราว่า “เพราะว่าความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า ทำให้เกิดการกลับใจ ซึ่งจะนำไปสู่ความรอดและจะไม่ทำให้เสียใจ แต่ความเสียใจอย่างโลกนั้นย่อมนำสู่ความตาย”
มีพระพรสำหรับคนที่ใจแตกสลาย คือผู้ที่กลับใจหันกลับมาหาพระเจ้า และผู้ที่อยู่เคียงข้างผู้ที่เป็นทุกข์
ซึ่งนี้เป็นไปตามพระสัญญาของพระองค์สำหรับพวกเขาเหล่านี้
คุณเคยร้องไห้เพราะความแตกแยกภายในครอบครัว ทีมงาน หรือกลุ่มเพื่อนของคุณหรือไม่? คุณมักจะอยู่เคียงข้างผู้ที่กำลังเผชิญหน้ากับความตาย การสูญเสีย และความเศร้าโศกหรือไม่?
ความโศกเศร้าเป็นสิ่งหนึ่งที่นำเราไปสู่การเยียวยาไม่ใช่การทำลาย ซึ่งเป็นความโศกเศร้าที่นำเรากลับไปหาพระเจ้าเพื่อที่เราแสวงหาการเยียวยาและการให้อภัยจากพระองค์
ผู้นำที่มีสุขภาพฝ่ายจิตวิญญาณดีและติดตามพระคริสต์คือผู้ที่ได้รับพระคุณและการปลอบประโลมจากพระเจ้า จะสามารถช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจสถานการณ์ที่เจ็บปวดได้ ผู้ที่ได้รับการปลอบประโลมจากพระเจ้าจะสามารถปลอบประโลมผู้อื่นได้ (2 โครินธ์ 1:3-4)
3. “คนที่สุภาพอ่อนโยน ก็เป็นสุข เพราะว่าเขาทั้งหลายจะได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดก” (มัทธิว 5:5)
นี่อาจเป็นพระพรที่น่าประหลาดใจที่สุดเท่าที่ได้ผ่านมา ในช่วงเวลาแห่งปัญหาและความสับสน เรามักไม่เห็นความสุภาพอ่อนโยนในการแก้ปัญหา และมันไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ โดยปกติมันไม่อยู่ในความคิดของนักวางแผนงานด้วยซ้ำไป
แต่เราควรจำไว้ว่า ความสุภาพอ่อนโยน ไม่ได้แปลว่าความอ่อนแอ ความสุภาพอ่อนโยนคือการผสมผสานระหว่างความอ่อนโยนและการรู้จักบังคับตน ซึ่งเป็นผลของพระวิญญาณที่พระลักษณะของพระคริสต์ให้แก่เรา
ความสุภาพอ่อนโยน ไม่ได้แปลว่าความอ่อนแอ ความสุภาพอ่อนโยนคือการผสมผสานระหว่างความอ่อนโยนและการรู้จักบังคับตน
เพื่อจะเข้าใจว่าความสุภาพอ่อนโยนคืออะไร เราควรกลับไปดูที่มาของคำคำนี้ ภาษากรีกมีการใช้คำนี้ทั่วไป 3 แบบ ที่ช่วยให้ผู้คนเข้าใจว่าความสุภาพอ่อนโยนเป็นความแข็งแกร่งที่ควบคุมได้ :
รูปแบบแรก ความสุภาพอ่อนโยนถูกใช้เมื่อแพทย์ต้องการอธิบายฤทธิ์ของยาและขนาดยาที่เหมาะสม หากใช้มากเกินไปอาจกลายเป็นพิษ แต่หากใช้แต่เพียงพอดีมันจะช่วยรักษาให้หายดี
รูปแบบที่สอง ความสุภาพอ่อนโยนถูกใช้โดยกะลาสีเรือเพื่ออธิบายแรงลม สายลมอ่อนๆ ทำให้สดชื่น แต่พายุเฮอริเคนนำการทำลายล้าง ย้ำอีกครั้งว่า อ่อนโยนหมายความว่าดี ไม่ได้แปลว่าอ่อนแอ
รูปแบบสุดท้าย ความสุภาพอ่อนโยนถูกใช้เมื่อคนเลี้ยงม้าจะทำการปราบม้าป่าที่พยศ การปราบม้าพยศไม่ใช่เพื่อทำลายแรงของมัน แต่เพื่อทำลายความดื้อรั้นของมัน ความสุภาพอ่อนโยนแสดงให้เห็นเมื่อความดุร้ายของม้าถูกปราบลง มันยังคงมีกำลัง ควบคุมตนเองได้ และทำให้ม้าเชื่องพอที่จะยอมให้ผู้ขี่พาเข้าสู่สนามรบได้
ในทั้งสามตัวอย่างนี้ ความสุภาพอ่อนโยนเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่หากนำมาใช้อย่างฉลาดพร้อมกับการรู้จักบังคับตน ซึ่งมาจากการเข้าใจว่า พระเจ้าทรงเป็นแหล่งกำลังที่แท้จริงของเรา และการอยู่ภายใต้การควบคุมและการดูแลของพระองค์จะช่วยให้เราสามารถทนต่อความยากลำบากนานัปการ และให้เราแสดงความเข้มแข็งภายใต้ความอ่อนโยนผ่านวิธีที่เราดูแลผู้อื่นด้วย
การแสดงความสุภาพอ่อนโยนต้องใช้ความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง และความถ่อมสุภาพ
เริ่มจากการรับฟังผู้อื่นอย่างเห็นอกเห็นใจและนำไปสู่การสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา การฝึกฝนให้ตนเองมีความสุภาพอ่อนโยนจะช่วยให้เราสามารถหนุนใจซึ่งกันและกันได้อย่างนุ่มนวลแต่มั่นคง การร่วมมือกัน ทำงานร่วมกัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกันผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก
ในขณะที่เราเผชิญกับความแตกสลาย นี่คือท่าทีการทำพันธกิจแบบพระเยซูคริสต์ : ด้วยท่าทีที่ยอมจำนน หัวใจที่แตกสลาย และจิตวิญญาณที่สุภาพอ่อนโยน
คำถามเพื่อการตอบสนอง:
การนำโดยพึ่งพาพระวิญญาณบริสุทธิ์หมายความว่าอย่างไร? สิ่งนี้เปลี่ยนวิธีการสื่อสารเกี่ยวกับนิมิต กลยุทธ์ และการตั้งเป้าหมายของคุณอย่างไร?
พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้เรามีหัวใจที่อ่อนโยนและยืนหยัด แต่ปัญหาคือพวกเรากลับมีใจแข็งกระด้างและไม่มีความมั่นคง – Jackie Pullinger จะเกิดอะไรขึ้นหากฉันเลือกที่จะเป็นผู้นำที่มีหัวใจที่พร้อมจะเจ็บปวดเพื่อผู้อื่น?
ฉันจะจำลองรูปแบบของ ‘อำนาจภายใต้การรู้จักบังคับตน’ ได้อย่างไร? มีที่ไหนที่ฉันจะแบ่งปันพลังและอิทธิพลต่อผู้อื่นได้บ้าง?
YOU MAY ALSO LIKE
จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าฉันไม่อยากอ่านพระคัมภีร์หรืออธิษฐาน
WRITER: ฉีฉี ต้นฉบับภาษาอังกฤษจาก YMITRANSLATOR: นิศารัตน์ มั่นเกตุEDITOR: กรชวัล เพชรเลิศอนันต์ มันเป็นอีกหนึ่งวันที่ยาวนาน ในระหว่างที่ดูแลพวกลูกๆ สะสางงานต่างๆ ก็แทบจะไม่มีเวลาให้ได้พักหายใจเลย เมื่อลูกๆ...
ฉันมีส่วนรับผิดชอบในความรอดของเพื่อนหรือไม่?
WRITER: เมดาลีน คาลู ต้นฉบับภาษาอังกฤษจาก YMITRANSLATOR: PinkEDITOR: Thitikarn Nithiuthai (Mesy) ฉันยังจำช่วงเวลาที่ฉันเริ่มต้นความสัมพันธ์กับพระเยซูได้ ราวกับว่าเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ทุกอย่างเริ่มต้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในช่วงที่อากาศหนาวเย็นของเดือนมกราคม ฮันนาห์...
เสียงที่ดังพอ
WRITER: GRACESaoriEDITOR: Mustard Seed Team เคยไหม? ที่ในบางครั้งเสียงของใครบางคนก็ดังกว่าเสียงของตัวเอง เสียงนี้มักดังเร้าอยู่ภายในใจ บ่อยครั้งในเมื่อเราอยู่ในช่วงที่คิดไม่ตก ฟุ้งซ่าน หาทางออกไม่เจอหลายๆ สิ่ง แต่จะมีเสียงๆ นี้แหละ ที่กลับดังขึ้นมาหัวใจ...