21/09/2022
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการติดตามพระเยซู 4 ประการ
ARTIST: YMI
ARTWORK TYPE/MEDIUM: Illustration
ต้นฉบับภาษาอังกฤษจาก YMI
ผู้แปล: Mustard Seed Team
การติดตามพระเยซูคืออะไร? คือการทำตามหน้าที่ ‘ต้องทำสิ่งนี้’ และ ‘ควรทำสิ่งนั้น’ เพียงแค่นี้หรือเปล่า?
บางครั้ง มุมมองของเราต่อการใช้ชีวิตคริสเตียนสามารถกลายเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ เหมือนการมีเช็คลิสต์ที่ควรทำหลายอย่าง แต่ทำอย่างไรก็ยังทำมันได้ไม่ดีพอ เราจึงดิ้นรนเพื่อให้ชีวิตเป็นไปตามความคาดหวังอยู่เรื่อยๆ ถึงแม้จะรู้ว่าเราไม่ได้ทำดีเพื่อได้รับการไถ่หรือเพื่อได้รับความรักจากพระเจ้า แต่เพราะเราได้รับการไถ่เราจึงทำความดี และความรักของพระเจ้าเป็นตัวขับเคลื่อนให้เรารักและทำดี แต่เช็คลิสต์สิ่งที่ควรทำก็ยังคงยาวเหยียดอยู่ดี
ในขณะที่เรากำลังต่อสู้กับความกดดันนี้ มันง่ายมากที่เราจะจดจ่อเกินไปกับความจริงเพียงหนึ่งหรือสองเรื่อง จนทำให้พลาดความจริงอีกหลายๆ เรื่อง จนทำให้เรามีมุมมองที่สุดโต่งและผิดไป และทำให้การติดตามพระเยซูเป็นสิ่งที่ไม่มีความสุข
ถ้าคุณกำลังรู้สึกว่ามันยากที่จะหาความชื่นชมยินดีในความสัมพันธ์ของคุณกับพระเจ้า ลองพิจารณาดูว่าสิ่งเหล่านี้กำลังฉุดรั้งและทำให้คุณเข้าใจผิดเกี่ยวกับความรักของพระเจ้าอยู่รึเปล่า
1. ความเข้าใจผิด: ชีวิตคริสเตียนมีแต่ความทุกข์และไม่มีความสุข
ความจริง: พระเจ้าต้องการให้เรามีความสุขที่ถาวรจากการค้นพบความพึงพอใจในพระองค์
เรามักได้ยินว่าความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคริสเตียน (1 เปโตร 4:12 ; 1 ยอห์น 3:13) คำพูดนี้สามารถทำให้เราผิดหวังและถูกเข้าใจผิด คิดว่าทุกสิ่งที่พระเจ้าต้องการในชีวิตของเราคือความทุกข์ไม่ใช่ความสุข
แต่พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่าการติดตามพระเจ้าหมายถึงชีวิตที่ไม่มีความสุข ในความเป็นจริงมันเป็นสิ่งตรงกันข้าม – พระคัมภีร์บอกเราว่าความสุขและความพึงพอใจมาจากพระเจ้า (ปัญญาจารย์ 3:12-13, กิจการ 14:17) และพระองค์ทรงเรียกให้เรามีความชื่นชมยินดี (ฟีลิปปี 4:4) และปีติยินดีในพระองค์ (สดุดี 37:4) พระคัมภีร์เดิมได้บันทึกการเฉลิมฉลองและงานเลี้ยงสำหรับประชากรของพระเจ้าไว้มากมาย ในขณะที่มีชีวิตอยู่พระเยซูเองก็ได้เล่นกับเด็กๆ รับประทานอาหารกับผู้คน และแม้กระทั่งได้รับเชิญไปร่วมงานแต่งงาน
ซาตานต้องการให้เราคิดว่า ความทุกข์และความสุขไม่มีทางเกิดร่วมกันได้ และถ้าพระเจ้าอนุญาตให้ความทุกข์เกิดขึ้นพระองค์ก็ต้องเกลียดการมอบความสุข และมันก็เป็นการง่ายที่เราจะคิดเช่นนี้ เพราะนิยามความสุขของเรามักผูกอยู่กับความสะดวกสบาย การตามใจตัวเอง และการปราศจากปัญหาโดยสิ้นเชิง ความสุขคือการได้มาซึ่งสิ่งที่ฉันต้องการไม่ว่าอย่างไรก็ตาม
พระเจ้าต้องการให้เรารู้ว่า พระองค์ปรารถนาให้เรามีความสุข และพระองค์ประทานความสุขผ่านหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะด้วยการเพลิดเพลินกับสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง การใช้เวลาเฉลิมฉลองกับคนที่เรารัก หรือการเสาะหาความพึงพอใจจากการทำงาน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ พระเจ้าต้องการให้เรารู้ว่าความสุขเกิดจากการเชื่อฟังพระองค์ (สดุดี 68:3) พระเยซูบอกให้เรายึดมั่นอยู่ในความรักของพระองค์โดยการรักษาพระบัญญัติของพระองค์ “เพื่อความสุข [ของเรา] จะได้สมบูรณ์” (ยอห์น 15:10-11)
มากกว่าความรู้สึกชั่วครู่หรือความเพ้อฝัน นี่คือความสุขอันแท้จริงที่เกิดจากการฝากชีวิตทั้งหมดของเราไว้กับผู้หนึ่งที่รู้จักเราเป็นอย่างดีที่สุด ผู้ซึ่งสละชีวิตและทุกสิ่งเพื่อเราและจะทำแต่สิ่งที่ยอดเยี่ยมและดีที่สุดเท่านั้นให้เรา
- ความเข้าใจผิด: พระเจ้า “ทำทุกสิ่งเพื่อการดี” ดังนั้นทุกอย่างจะต้องออกมาดีและเป็นไปได้
ความจริง: สิ่งต่างๆ ไม่ได้ “จบลงด้วยดี” เสมอ แต่พระเจ้าจะทำงานผ่านเราเพื่อพระสิริของพระองค์เสมอ
เราบางคนอาจจะมีความเชื่อแบบสุดโต่งว่า ถ้าเราเชื่อในพระเจ้าจริงๆ และมอบความเชื่อของเราไว้ในพระเยซู พระองค์จะทำการเพื่อเราและทุกอย่างจะต้องจบลงด้วยดีในที่สุด
แต่สิ่งที่ดีในมุมมองของเรามักจะ (ถึงแม้จะไม่เสมอไป) แตกต่างกับสิ่งที่ดีในมุมมองของพระเจ้า เช่นเดียวกับในพระธรรมโรม 8:28 เราอาจคิดว่าการที่พระเจ้าทำการดีย่อมหมายถึงสิ่งดีที่เราคาดไว้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ดังนั้น เมื่อสถานการณ์ต่างๆ ไม่ดีขึ้น สัญชาตญาณของเราจะคิดว่ามันเป็นเพราะพระเจ้าไม่สนใจหรือเพราะเรามีความเชื่อไม่มากพอ เราเคยชินกับการใช้ชีวิตด้วยสมการ (“ขยันแล้วจะประสบความสำเร็จ”) และด้วยการตีความพระคัมภีร์ในแบบของเราเอง (“พระเยซูสัญญาว่า “ชีวิตที่สมบูรณ์” ต้องหมายถึงชีวิตที่มีความหมายมากขึ้นและดีขึ้น”) ซึ่งนั่นทำให้เราตกอยู่ในกับดักความคิดที่ว่า การเชื่อพระเจ้าจะมีประโยชน์อะไร ถ้ามันไม่ได้ทำให้ชีวิตฉันดีขึ้น?
แต่ถ้าเราอ่านพระธรรมโรม 8:28 โดยคำนึงถึงบริบทของเนื้อหา เราจะเห็นว่าพระเจ้าไม่ได้แค่สนใจที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์รอบๆ ตัวเรา – แต่ให้ความสำคัญกับการทำงานในเราและผ่านเรา เพื่อผลดีต่อเราและพระสิริของพระองค์ เพื่อที่เราจะได้รับ “การขัดเกลาให้มีนิสัยเหมือนพระบุตรของพระองค์” (โรม 8:29) ซึ่งนี่ก็หมายถึงว่า แม้สิ่งดีที่เราคาดหวังไว้ไม่ได้เกิดขึ้น พระองค์ยังทรงทำงานในเราเพื่อให้เราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น – ผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบาก เราจะมีวุฒิภาวะ ความอดทน และมีอุปนิสัยเหมือนพระคริสต์มากขึ้น
เพราะเหตุนี้ เราสามารถใช้ชีวิตด้วยความเชื่อแม้ขณะที่เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่นอกเหนือความรู้และการควบคุมของเรา และเช่นเดียวกับสาวกหลายๆ คน เมื่อเราเชื่อฟังและมอบความเชื่อของเราไว้กับพระองค์ เชื่อในอุปนิสัยและเวลาของพระองค์ พระเจ้าจะรับรองความเชื่อของเราด้วยพระคำและพระกายของพระองค์ และสัญญาว่าจะเดินไปด้วยกันกับเราในทุกย่างก้าวตลอดทาง
3. ความเข้าใจผิด: ลืมสิ่งที่ฉันต้องการไปเถอะ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามความต้องการของพระเจ้าเท่านั้น ใช่ไหม?
ความจริง: พระเจ้าให้เรามีความปรารถนาและมีอิสระในการเลือก และเมื่อเรามอบมันไว้กับพระองค์ พระเจ้าจะช่วยให้เราเติบโตถึงขนาดความบริบูรณ์ของพระองค์ เพื่อความปรารถนาต่างๆของเราจะสอดคล้องกับของพระองค์
ความเข้าใจผิดอีกอย่างหนึ่งคือคิดว่าเมื่อพระเยซูเรียกให้เรา “ปฏิเสธตนเอง” (มัทธิว 16:24) พระองค์ต้องการให้เราละทิ้งความปรารถนาทั้งหมดของเรา และการตีความต่อไปว่า มันไม่สำคัญอีกต่อไปว่าเราต้องการอะไร เพราะเราได้แค่ต้องการสิ่งที่พระเจ้าต้องการเท่านั้น
เมื่อเราคิดเช่นนี้ เราจะเริ่มมองโลกผ่านเลนส์ของการแบ่งแยกระหว่าง “จิตวิญญาณ” กับ “ทางโลก” แบบผิดๆ เช่น เราควรอยากอ่านพระคัมภีร์เท่านั้น และไม่ควรอยากดู Netflix เราควรต้องการใช้เวลากับเพื่อนที่โบสถ์มากกว่าเพื่อนที่ไม่ใช่คริสเตียน เราควรใคร่ครวญเกี่ยวกับพระเจ้าตลอดเวลาแม้ในขณะที่เราทำงานอยู่ ฯลฯ
เพราะเหตุนี้ ทุกอย่างที่เราเพลิดเพลินกลายเป็นสิ่งอธรรมและไม่น่าปรารถนา และอะไรก็ตามที่พระเจ้าปรารถนาจึงกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้เกิดขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เราหลายๆ คนจะรู้สึกไม่กระตือรือร้นเมื่อนึกถึงพระเจ้าและพระคัมภีร์
และนั่นคือสิ่งที่ตรงกันข้ามมากที่สุดกับสิ่งที่พระเจ้าต้องการ
เมื่อพระเจ้าทรงเรียกให้เราปฎิเสธตัวเอง พระองค์กำลังเรียกให้เราปฎิเสธธรรมชาติของบาปในตัวเรา – ไม่ใช่ความปรารถนาและนิสัยอันเป็นเอกลักษณ์และพรสวรรค์ที่พระองค์ประทานให้เรา ถ้าพระเจ้าไม่สนใจความต้องการและตัวตนของเรา พระองค์คงไม่มอบอิสระในการเลือกให้กับเรา ถ้าทั้งหมดที่พระองค์ต้องการคือการเอาชนะความตั้งใจของเราและบังคับให้เรายอมจำนน แผนการการช่วยให้รอดทั้งหมดของพระองค์ – การแสดงความรักและการรอคอยให้เรารักพระองค์กลับ – คงไม่จำเป็น
ให้เราคิดแบบนี้: เมื่อเรายังเด็ก มันยากที่จะเข้าใจว่าเพราะอะไรพ่อแม่ถึงปฎิเสธเรา หรือให้สิ่งอื่นแทนสิ่งที่เราต้องการจริงๆ แต่เมื่อเราเติบโตและมีวุฒิภาวะมากขึ้น เราจะเข้าใจจิตใจและความปรารถนาของพ่อแม่ง่ายขึ้น
ในทางเดียวกัน อัครฑูตเปาโลเรียกคริสตจักรต่างๆ ให้เติบโตถึงขนาดความบริบูรณ์ของพระคริสต์ (เอเฟซัส 4-5, ฟีลิปปี 3) เพื่อพวกเขา (และเรา) เริ่มที่จะรักในสิ่งที่พระเจ้าพอพระทัย และเข้าใจวิธีทำให้พรสวรรค์และความปรารถนาของเราสอดคล้องกับแผนการของพระองค์ในชีวิตเรา
4. ความเข้าใจผิด: การให้อภัยหมายถึงการทนพฤติกรรมที่เป็นพิษ (บาป)
ความจริง: การให้อภัยไม่ใช่การจำใจอดทนต่อความบาป แต่คือการเลือกที่จะไม่เกลียดชังหรือจมอยู่กับความเจ็บปวด
ในฐานะคริสเตียน เราถูกสอนให้รู้จักให้อภัยอย่างที่พระเจ้าให้อภัยเรา และการแก้แค้นขึ้นอยู่กับพระเจ้า (โรม 12:19) เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเราคือ “ให้อภัย” และ “ปล่อยให้มันผ่านไป” เรามักใช้สิ่งนี้ตีความว่าเราควรที่จะ “ปล่อยผ่าน” อย่างสุภาพอ่อนโยน และ “ยอมรับ” พฤติกรรมที่เป็นพิษ (บาป) อย่างไม่มีเงื่อนไข โดยไม่ต้องให้อีกฝ่ายรับผิดชอบต่อการกระทำของพวกเขา
แต่การอ่านสดุดีเพียงอย่างเดียว ก็เพียงพอแล้วที่จะเตือนเราว่า พระคัมภีร์ไม่ได้กวาดล้างความชั่วและความอยุติธรรมไว้ใต้พรม แต่ได้พึ่งพาพระเจ้าในการพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างในวาระสุดท้าย อันที่จริง ผู้ประพันธ์บทเพลงสดุดี ได้เรียกร้องอย่างชัดเจนให้พระเจ้าทำการลงโทษ ซึ่งสิ่งนี้ค่อนข้างตรงกันข้ามกับทัศนคติ “รักสันติ” ของเราในปัจจุบัน
และถ้าเราดูคำสอนในพระคัมภีร์ใหม่เราจะเห็นสิ่งที่ตรงกันข้าม ในฐานะผู้เชื่อ เราถูกเรียกให้ตักเตือนและแก้ไขสิ่งที่ผิด (มัทธิว 18:15-17, ลูกา 17:3) และไม่ให้เกี่ยวข้องกับคนที่ไม่สำนึกผิด (1 โครินธ์ 5:9-12, 2 เธสะโลนิกา 3:6, ติทัส 3:10)
จากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ เราจะเห็นว่า การให้อภัยไม่ใช่การจำใจอดทนหรือละเลยที่จะแก้ไขสิ่งที่ผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวของพระเจ้า แต่คือการเลือกที่จะไม่ยึดถือความเกลียดชังหรือจมอยู่ในความเจ็บปวดที่เราเคยเผชิญ
อย่าให้ความคิดแบบสุดโต่งเหล่านี้ ทำให้ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับความรักของพระเจ้าลดน้อยลง เมื่อมีความสงสัย ให้เราวิ่งเข้าหาพระเจ้าและขอพระองค์ประทานความเข้าใจ ขอพระองค์ช่วยให้เราเห็นและสัมผัสว่าพระองค์ดี
และในขณะที่เราเรียนรู้ที่จะเชื่อฟังพระองค์ เราก็ต้องพึ่งพาการจัดเตรียมและพระสัญญาของพระองค์ด้วย นั่นก็คือพระเยซูผู้ซึ่งดำรงอยู่ในเรา พระวิญญาณบริสุทธิ์ผู้ประทานความเข้าใจและกำลังให้เรา และพระเจ้าพระบิดา ผู้ที่จะทำการดีที่ทรงเริ่มไว้ในเราให้สำเร็จ
YOU MAY ALSO LIKE
กังวลจนไม่หลับไม่นอน
WRITER: Mustard Seed TeamEDITOR: Mustard Seed Team ฉันนอนไม่หลับทั้งคืน บางคืนเราก็มีอาการนอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ พอเช้าตื่นมาก็ไม่สดชื่น อารมณ์ไม่ดี การนอนไม่หลับส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่เป็นครั้งคราว แต่สําหรับบางคนอาจเจอปัญหานี้เป็นประจำ...
ทำไมเราถึงไม่กล้าปฏิเสธ
WRITER: ซาร่า โซ ต้นฉบับภาษาอังกฤษจาก YMITRANSLATOR: สุมิตรา ชามรามดาบานEDITOR: ปวีณา นิลบุตร “ถ้าใช่ก็จงบอกว่าใช่ ถ้าไม่ใช่ก็จงบอกว่าไม่ใช่” (ยากอบ 5:12) ขณะที่ฉันเขียนข้อความนี้ ฉันเพิ่งจะพูดว่า "ไม่" ที่จะฟังความขัดข้องใจของแม่เรื่องคนสนิทในครอบครัว...
พระเจ้าช่วยฉันผ่านประสบการณ์เลวร้าย (ถูกล่วงละเมิดทางเพศ)
WRITER: แคทเธอรีน ฟลินน์ ต้นฉบับภาษาอังกฤษจาก YMITRANSLATOR: Mustard Seed TeamEDITOR: Mustard Seed Team ในปี 2003 ฉันอายุ 24 ปี และอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษตอนที่ฉันถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยเพื่อนร่วมห้องของฉัน...
MUSTARD SEED
Scripture quotations taken from The Holy Bible, Thai Standard Version 2011 ®
MUSTARD SEED is a part of
Our Daily Bread Ministries.
ABOUT US
We are a platform for Christian young people to ask questions about life and discover their true purpose. We are a community with different talents but the same desire to make sense of God’s life-changing word in our everyday lives.
® 2019 MUSTARD SEED . ALL RIGHTS RESERVED.
CONNECT WITH US
OUR OTHER LANGUAGES SITES
YMI (English)
WarungSaTeKaMu (Bahasa Indonesia)
雅⽶米 (Simplified Chinese)