WRITER: จาเนล ไบรเทนสไตน์ ต้นฉบับภาษาอังกฤษจาก YMI
TRANSLATOR: Natty Grace
EDITOR: Thitikarn Nithiuthai (Mesy)
ฉันยังจำฤดูร้อนที่สดใสคราวนั้นได้เป็นอย่างดี ตอนนั้นฉันกำลังมุ่งหน้าไปยังโรงเรียนมัธยมปลาย ขณะที่สมองน้อยๆ ของฉันพยายามทำความเข้าใจเรื่องการรับใช้ของพระเยซูในเรื่องการที่ทรงตายต่อพระองค์เอง ฉันจำได้ว่าฉันชะโงกตัวข้ามถาดอาหารเพื่อพูดคุยเรื่องนี้กับที่ปรึกษาค่ายของฉันว่าเราจะเป็นอย่างไรถ้าใช้ชีวิตเช่นนั้น
เธอดูตื่นตระหนกกับกับความร้อนรนของฉัน (ฉันแน่ใจว่าสามีของฉันสามารถเข้าใจได้ดีเลย) เธอตอบกลับว่า “แต่พระเยซูไม่ต้องการให้เราเป็นพรมเช็ดเท้าของพระองค์นะ”
ในเวลานั้นฉันไม่รู้เลยว่าพระองค์ทรงยับยั้งฉันทำไม? แนวความคิดของ “ขอบเขต” ซึ่งกำหนดขีดจำกัดว่าฉันจะให้ผู้อื่นได้มากแค่ไหน หรือพวกเขาจะรับได้มากเพียงใด ดูเหมือนจะสะท้อนภาพแนวคิดยุคหลังสมัยใหม่ (Post-modern) (*ศิลปะที่เน้นตั้งคำถาม ต่อความรู้ ความเชื่อ ต่อสิ่งที่พบเห็นว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง) ซึ่งสะท้อนให้ฉันเห็นถึงการต่อต้านการใช้ชีวิตอย่างสุดโต่งและแสดงออกอย่างอิสระ ในตอนนั้นฉันยังมองไม่เห็นขอบเขตในพระกิตติคุณมากมายนัก
ตอนนี้ฉันกลับเห็น “การกำหนดขอบเขต” ทั่วทุกหนแห่ง เห็นการที่พระเยซูทรงกำหนดอาณาบริเวณในพระนิเวศน์ของพระบิดา ทรงขับไล่ผู้คนที่ย่ำยีพระนิเวศน์ซึ่งเป็นสถานที่ที่ควรได้รับการปกป้อง (ยอห์น 2:13-16) พระเยซูทรงเมตตา แต่พระองค์ก็ไม่ได้ทรงรักษาทุกคน ครั้นพระองค์ทรงรักษา การอัศจรรย์ก็ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีเสมอไป เช่น เมื่อพระองค์รักษาคนเป็นอัมพาต พระองค์ทรงให้มากกว่าที่พวกเขาต้องการ (สิ่งแรกและสำคัญที่สุดคือ การรักษาฝ่ายจิตวิญญาณ (ลูกา 5:17-39) และพระเยซูไม่ทรงปล่อยให้ผู้คนเอาหินขว้างพระองค์ แต่ทรงเลือกสิ้นพระชนม์ในเวลาที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ (ยอห์น 10:18)
สำหรับพระองค์แล้ว ความรักไม่ได้แปลว่า “ใช่/ ได้” เสมอไป แม้ว่าพระองค์จะทรงสามารถก็ตาม
บางครั้ง มันก็หมายความว่า “ไม่”
อย่างไรก็ตาม ฉันยังคงทำตัวเป็นคนในดินแดนพรมเช็ดเท้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมันคือสถานที่ที่สะดวกสบายสำหรับความขี้ขลาดของฉัน
“ความรัก” อย่างน้อยก็ความรู้สึกรักมันเป็นเรื่องที่ง่ายกว่ามากถ้าคุณจะให้มันกับผู้คนที่ต้องการ
เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้คนจะชอบคุณมากขึ้นและคุณก็ไม่จำเป็นต้องทนทุกข์ ในขณะที่คนอื่นๆ ต้องดิ้นรนผ่านกระบวนการอันเจ็บปวดของการตายต่อตัวเอง
บางครั้งฉันก็รู้สึกผิดที่คิดว่าถ้า:
– ฉันสามารถทำในสิ่งที่มีคนร้องขอได้ หรือ
– ถ้าฉันเป็นคนทำมันจะง่ายกว่า หรือ
– ถ้าฉันตอบว่าไม่ มันจะเป็นเหตุให้ฉันรู้สึกเจ็บปวด หรือช้ำใจ หรือ
– นี่เป็นโอกาสที่จะช่วยเหลือใครสักคน
ฉันควรจะตอบว่า “ได้” แต่แท้จริงแล้วโอกาสที่เปิดขึ้นนั้น ไม่ได้หมายความว่าฉันถูกเรียกโดยพระเจ้าให้ทำอะไรบางอย่างเสมอไป
แล้วทำไมฉันถึงกำหนดขอบเขตให้ตัวเอง? นี่คือบันทึกเตือนความจำสำหรับตัวฉันเอง
1. ขอบเขตช่วยให้ฉันพูดว่า “ได้” กับสิ่งที่สำคัญจริงๆ
ในทางปฏิบัติมันอาจจะง่ายพอๆ กับการที่ฉันต้องตอบตกลงในสิ่งที่แม่ต้องการ ฉันสามารถปฏิเสธคำขอของสามีได้มากกว่านั้น หรืออาจจะเป็นการที่เพื่อนของฉันมักจะถามฉันว่าจะดูแลลูกๆ ของเธอระหว่างที่เธอทำรายงานได้ไหม แต่หลังจากทำหลายๆ อย่างมากเกินไป ฉันกลับอารมณ์เสียใส่ลูกๆ ของตัวเองแทน
ชีวิตก็เหมือนกราฟวงกลม ขณะนี้กราฟวงกลมของฉันเต็มหมดแล้วทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ฉันไม่มีช่วงเวลา “กินขนมและดูละคร” ฉันคิดอยู่บ่อยครั้งว่าฉันสามารถปลีกตัวเองจากช่วงเวลา “นอน” หรือ “พักผ่อน” ได้ แต่แล้วบางครั้งช่วงเวลา “ภรรยาแสนสุข” หรือ “คุณแม่แสนสนุก” ก็กลายเป็น “ภรรยาที่หมดแรง” หรือ “คุณแม่จอมหงุดหงิด”
จงยืนหยัดเพื่อชีวิตแต่งงานของคุณ เพื่อลูกๆ ของคุณ เพื่อครอบครัวของคุณ จงสัตย์ซื่อต่อสิ่งที่คุณได้สัญญาไว้และต่อผู้คนที่ไว้วางใจคุณ และพึงระลึกไว้เสมอว่าความต้องการ “ตอนนี้” ไม่ได้สำคัญไปกว่าความต้องการของ “วันพรุ่งนี้” เสมอไป
2. ขอบเขตช่วยให้ฉันใส่ใจว่าอะไรดีที่สุดสำหรับบุคคลนั้น
มีสุภาษิตที่ครอบคลุมคำกล่าวนี้ คือ “ถ้าคุณให้ปลาแก่เขา เขาจะมีปลากินเพียงแค่วันเดียว แต่ถ้าคุณสอนวิธีจับปลาให้เขา เขาจะมีปลากินตลอดชีวิต” การจะช่วยให้คนขัดสนได้กินดีอยู่ดีขึ้นนั้น ควรขับเคลื่อนด้วยทัศนคติที่ว่า “เงินที่ได้มาง่ายๆ” สำหรับคนจนแทบไม่ช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากความยากจน ตรงกันข้ามมันกลับกลายเป็นกับดักที่ฉุดรั้งพวกเขาไว้
การเลี้ยงลูกก็เช่นกัน ต้องอาศัยเวลาและความอดทน มีตัวอย่างเห็นได้ชัดว่าคนเรามักจะใส่ใจกับการดูแลคนวัยผู้ใหญ่ที่เติบโตแล้วมากกว่าการปลอบประโลมเด็กที่พร้อมจะทิ้งตัวลงบนพื้นเมื่อผ่านร้านของชำ
แล้วมิตรภาพล่ะ? แน่นอนว่าบางทีเพื่อนของคุณต้องการความช่วยเหลือในการเขียนประวัติส่วนตัว ในคืนก่อนการสัมภาษณ์งาน แต่บางทีนี่อาจเป็นรูปแบบนิสัยผลัดวันประกันพรุ่งของเพื่อนที่คุณก็รู้ดี (และยังคงเป็นแบบนี้อยู่) ว่าเป็นแบบนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม
เราต้องรักให้มากพอที่จะกล้าพูดให้เขาเอาจริงเอาจังกับชีวิต ให้เขาแสวงหาอย่างขยันหมั่นเพียร และทำสิ่งที่บุคคลนี้ต้องการในระยะยาว—ไม่ใช่แค่ป้องกันความขัดแย้ง (อ่านเพิ่มเติม สุภาษิต 29:25, ยอห์น 12:43, โรม 12:2, กาลาเทีย 1:10 , 1 เธสะโลนิกา 2:4)
3. ขอบเขตเทิดทูนพระฉายาของพระเจ้าในตัวฉันและในคนที่ฉันรัก
พวกเขากล่าวว่า เฮ้ เราทุกคนถูกสร้างตามพระฉายาของพระเจ้า นั่นหมายความว่าความชอบธรรมไม่ได้อยู่ที่คุณเท่านั้น มันอยู่ที่ฉันด้วย
เราพบว่าเราออกนอกลู่นอกทาง (และดำเนินชีวิตอย่างอยุติธรรม) เมื่อเราไม่ยืนหยัดเพื่อพระฉายาของพระเจ้าในคนที่เรารัก—เมื่อเรายอมเห็นผู้คนถูกดูหมิ่นและถูกปฏิบัติอย่างไร้ค่า และเราไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องพวกเขา คนนั้นอาจเป็นภรรยาที่โดดเดี่ยวและละอายใจเมื่อสามีของเธอละเลยที่จะอยู่เคียงข้างเธอยามเธอถูกเยาะเย้ย หรือล้อเลียนเป็นเวลานาน หรืออาจเป็นเพื่อนร่วมงานที่ถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงาน หรือคนที่ถูกเหยียดเชื้อชาติ หรือเพศ หรืออาจจะแค่คนที่ขาดความมั่นใจ
พระเจ้าทรงวาดความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างการรักพระองค์กับวิธีที่เรารัก ปฎิบัติ (มัทธิว 22:37-39; อิสยาห์ 58:2-14) และสื่อสาร (ยากอบ 3:9-10) กับผู้ที่เป็นดั่งพระฉายาของพระองค์
ขอบเขตยังหมายถึงการแสดงความคิดเห็นและยืนหยัด แทนที่จะปล่อยให้ผู้อื่นเหยียบย่ำเรา
4. ขอบเขตช่วยให้จดจำว่าฉันไม่ควรใช้ผู้อื่นมาเติมเต็มชีวิตของฉัน
ชาวโรมันอธิบายไว้ว่า ความรักที่สับสนวุ่นวายก็เหมือนเป็นการวางสิ่งอื่นใดไว้เหนือพระผู้สร้างนั้นก็ถือว่าเป็นการลักลอบ (โรม 1:22-23) ช่องว่างในตัวฉันแฝงตัวใช้เวลา พลังงาน เงินทอง และความรักของฉันไปอย่างสิ้นเปลือง แต่น่าเสียดาย สิ่งใดก็ตามที่ไม่ถูกต้องกำลังลอบปล้นคนๆ นั้นอยู่
การกำหนดขอบเขตหมายถึงการที่ฉันถูกบังคับให้รับรู้ถึงความรักที่สับสนวุ่นวายในตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น ฉันมักจะพูดว่า “ได้” ง่ายๆ เพียงเพราะฉันต้องการได้รับการยอมรับ หรือเพราะว่าฉันสบายใจที่จะหลีกเลี่ยงอะไรสักอย่าง นั่นเป็นเพราะการตอบตกลงนั้นง่ายกว่าการบอกว่า “ไม่” (นอกจากนี้ การกำหนดขอบเขตยังบังคับให้ฉันรับรู้ถึงความรักที่สับสนวุ่นวายของผู้อื่นอีกด้วย)
ความปรารถนาที่ไม่จำกัดของเราทำให้ตัวเราอ่อนแอลง บ่อยครั้ง เมื่อเราเครียด, เศร้าโศก หรือหมดกำลังใจ ตัวตนด้านความไม่พอใจในตัวเองก็มักจะปล่อยสันดานดิบให้เราทำทุกวิถีทางให้เพื่อให้เรารู้สึกดีขึ้น
เราแสวงหาสิ่งที่แตกหักเสียหาย พยายามหาทางอุดรูรั่วที่พระเจ้าไม่ทรงเติมเต็มในเรา
พระเจ้าตรัสดังนี้ว่า “เพราะว่าประชากรของเราได้กระทำความชั่วถึงสองประการ เขาได้ทอดทิ้งเราเสีย ซึ่งเป็นน้ำพุที่มีน้ำแห่งชีวิต แล้วสกัดบ่อน้ำไว้สำหรับตนเอง เป็นบ่อแตกที่ขังน้ำไม่ได้” (เยเรมีย์ 2:13)
การที่เราไม่มีขอบเขตยังเปิดเผยได้ว่าเรากำลังแสวงหาการเติมเต็มในบางอย่าง หรือกับบางคนที่ไม่ใช่พระองค์
5. ขอบเขตเคลื่อนฉันออกจากความรู้สึกที่ควบคุมไม่ได้ เพื่อที่ฉันจะรักได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
แทนที่จะรู้สึกว่าตนเองไม่มีทางเลือก หรือคิดว่านี่เป็นหน้าที่ของฉันที่จะต้องปฏิบัติตาม หรือฉันเพียงแค่ต้องเสียสละและเชื่อฟัง ฉันสามารถเลือกได้ว่าต้องการจะตอบว่า “ใช่” หรือ “ไม่” ฉันไม่ได้ ถูกบังคับ หรือถูกควบคุมโดยความต้องการ หรือข้อเรียกร้องของผู้อื่น ซึ่งก่อให้เกิดความขุ่นเคืองและขมขื่นใจได้ในที่สุด
ฉันสามารถคิดอย่างรอบคอบและตัดสินใจเลือกวิธีที่ดีที่สุดที่จะรักในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ — รักได้อย่างลึกซึ้งและเต็มใจมากขึ้นกว่าเดิม
ความรักจึงเป็นทางเลือกที่มีคุณค่า แทนที่จะเป็นภาระผูกพัน
ต่อไปนี้คือคำถามบางข้อที่สามารถช่วยให้คุณแยกแยะว่าควรกำหนดขอบเขตอย่างไรและเมื่อใด
- เมื่อฉันสัตย์ซื่อต่อความรู้สึกในระดับสัญชาตญาณ ทำไมฉันถึงต้องตอบว่า “ใช่/ ได้” ด้วย? ถ้าฉันคิดว่าตัวเองไม่เห็นแก่ตัวเลย ฉันจะได้อะไร? (ตัวอย่างเช่น คนที่เห็นคุณค่ามากกว่า รักสงบ [ระดับผิวเผิน] เว้นระยะห่าง ดังนั้นฉันจึงไม่ต้องจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง หรืออารมณ์ของพวกเขา ฯลฯ)
- ถ้าฉันพูดว่า “ได้” เพียงเพราะความรู้สึกผิด หรือความกลัว ฉันจะจัดการกับสิ่งเหล่านี้อย่างเหมาะสมได้อย่างไร?
- เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่จะรับใช้และรักบุคคลนี้ได้เป็นอย่างดีในระยะยาว ฉันกำลังช่วยให้พวกเขาไปสู่ความชอบธรรมและความบริสุทธิ์จริงๆ หรือ? หรือฉันกำลังเลือกคำตอบที่ “ง่าย” เพื่อหาทางออกที่ง่ายกันแน่? ฉันจะสามารถยืนอยู่ในทางของคนที่กำลังจะตายต่อความปรารถนาที่เห็นแก่ตัวของพวกเขาได้หรือ?
พระเจ้าตรัสสั่งเราว่า “จงรักด้วยใจจริง จงเกลียดชังสิ่งที่ชั่ว จงยึดมั่นในสิ่งที่ดี” (โรม 12:9) ซึ่งการกำหนดขอบเขตจะช่วยให้เราสามารถตัดสิ่งที่ชั่วร้ายและความเห็นแก่ตัวออกจากความสัมพันธ์ของเรา เพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้ามากกว่าความรู้สึกปลอดภัยและสันติสุขจอมปลอมของเรา หรือความพึงพอใจของผู้อื่น
รักมากขึ้นด้วยการปฏิเสธ
YOU MAY ALSO LIKE
กังวลจนไม่หลับไม่นอน
WRITER: Mustard Seed TeamEDITOR: Mustard Seed Team ฉันนอนไม่หลับทั้งคืน บางคืนเราก็มีอาการนอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ พอเช้าตื่นมาก็ไม่สดชื่น อารมณ์ไม่ดี การนอนไม่หลับส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่เป็นครั้งคราว แต่สําหรับบางคนอาจเจอปัญหานี้เป็นประจำ...
ทำไมเราถึงไม่กล้าปฏิเสธ
WRITER: ซาร่า โซ ต้นฉบับภาษาอังกฤษจาก YMITRANSLATOR: สุมิตรา ชามรามดาบานEDITOR: ปวีณา นิลบุตร “ถ้าใช่ก็จงบอกว่าใช่ ถ้าไม่ใช่ก็จงบอกว่าไม่ใช่” (ยากอบ 5:12) ขณะที่ฉันเขียนข้อความนี้ ฉันเพิ่งจะพูดว่า "ไม่" ที่จะฟังความขัดข้องใจของแม่เรื่องคนสนิทในครอบครัว...
พระเจ้าช่วยฉันผ่านประสบการณ์เลวร้าย (ถูกล่วงละเมิดทางเพศ)
WRITER: แคทเธอรีน ฟลินน์ ต้นฉบับภาษาอังกฤษจาก YMITRANSLATOR: Mustard Seed TeamEDITOR: Mustard Seed Team ในปี 2003 ฉันอายุ 24 ปี และอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษตอนที่ฉันถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยเพื่อนร่วมห้องของฉัน...