fbpx
WRITER: มาริสซา ลุค ต้นฉบับภาษาอังกฤษจาก YMI
TRANSLATOR: Mustard Seed Team
EDITOR: Mustard Seed Team

ฉันมีอาการวิตกกังวลครั้งแรกเมื่ออายุ 16 ปี หนึ่งปีหลังจากนั้น ฉันตัดสินใจทำตามการทรงเรียกสู่การทำงานเป็นผู้รับใช้เต็มเวลา ซึ่งทำให้ฉันได้ย้ายไปประเทศต่างๆ เป็นเวลาแปดปี ระหว่างการเดินทางของฉัน อาการอย่างเช่น ใจสั่น เหนื่อยล้า และปัญหาการย่อยอาหารที่เคยเป็นตอนที่เรียนมัธยมเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น

เมื่ออาการเหล่านี้เริ่มส่งผลต่อความสามารถของฉันในการเข้าสังคมและการทำงานรับใช้ ฉันลองแบ่งปันเกี่ยวกับอาการเหล่านี้ที่โบสถ์แห่งหนึ่งที่ฉันเริ่มรับใช้ ฉันคิดว่าการขอความช่วยเหลือจากผู้นำคริสตจักรเป็นความคิดที่ดี แต่คำตอบที่ฉันได้รับคือ “แค่อธิษฐานมากขึ้น วางใจพระเจ้ามากขึ้น”

เมื่ออาการต่างๆ แย่ลงรวมถึงอาการประสาทหลอน สมองฝ่อ และปวดหัวจนถึงจุดหนึ่งที่ฉันพยายามฆ่าตัวตาย ตอนนั้นเมื่อศิษยาภิบาลของฉันได้ยินเรื่องนี้ เขาแสดงความผิดหวังในตัวฉัน เขาบอกว่าเขาไม่รู้จะทำอย่างไรกับฉัน และฉันต้องจัดการความคิดและหัวใจให้ดีขึ้น

น่าเศร้า ที่ประสบการณ์ของฉันกับศิษยาภิบาลและคริสตจักรอื่นๆ มีรูปแบบคล้ายกัน เป็นเวลานาน ที่ฉันเชื่อว่าจิตวิญญาณของฉันมีบางอย่างผิดปกติ แต่ทางด้านความเชื่อฉันไม่รู้จริงๆ ว่าต้องทำอย่างไร นอกคริสตจักรแล้วฉันไม่รู้จะขอความช่วยเหลือจากที่ไหน

ด้วยพระคุณพระเจ้า การเดินทางของฉันพลิกผันไปในทางที่ดีขึ้น

หลังจากพบผู้เชี่ยวชาญหลายคนมาเกือบสิบปี ในที่สุดปีนี้ ฉันก็ได้รู้ถึงสาเหตุที่ใหญ่ที่สุดของความทุกข์ทางจิตใจที่รบกวนฉันมานานหลายปี ความผิดปกติของการได้ยินที่มีภาวะหูไวเกิน (hyperacusis) และหูอื้อ (tinnitus) นอกจากจะทำให้เกิดความไวต่อเสียงที่รบกวนอย่างมากแล้ว สิ่งเหล่านี้ยังทำให้เกิดความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรงอีกด้วย

อาการนี้ไม่ใช่อาการที่รักษาให้หายได้ แต่สามารถจัดการได้ด้วยยาและการปรับวิถีชีวิต ซึ่งหมายความว่าฉันสามารถเรียนรู้ที่จะจัดการกับมัน รวมถึงการทำกิจกรรมและเข้าสังคม และตั้งใจหาสถานที่ที่สงบเพื่อฟื้นฟู

การเรียนรู้สิ่งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การเข้าใจปัญหาที่อยู่เบื้องหลังความผิดปกตินี้ทำให้ฉันสามารถก้าวไปข้างหน้า ไล่ตามความฝัน และใช้ชีวิตในแบบที่ฉันต้องการได้ด้วยตัวเอง

สุขภาพจิต กับ ความเจ็บป่วยทางจิต

แม้ว่าความกังวลด้านสุขภาพจิตโดยทั่วไปจะเป็นเรื่องของสถานการณ์ซะส่วนมาก (ผลกระทบจากความรู้สึก การทำงาน ชีวิตทางสังคม ฯลฯ) ความเจ็บป่วยทางจิตเป็นลักษณะทางจิตเวชโดยธรรมชาติ (และมักเป็นสิ่งที่เรื้อรังและยาวนาน)

องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้นิยามโรคทางจิตเวชว่าเป็น “อาการบ่งชี้ที่มีนัยสำคัญทางการแพทย์ในความคิด การควบคุมอารมณ์หรือพฤติกรรมของแต่ละคน มักเชื่อมโยงกับความทุกข์หรือความบกพร่องในการทำงานที่สำคัญ”

ความเจ็บป่วยทางจิต รวมไปถึงพัฒนาการทางระบบประสาท บุคลิกภาพ การบาดเจ็บจากอดีต การกิน โรคจิตเภท ความวิตกกังวล ความผิดปกติทางอารมณ์ และอื่นๆ

บ่อยครั้งที่ประสบการณ์ของคนที่มีอาการป่วยทางจิต ถูกนำไปเปรียบเทียบกับความรู้สึกวิตกกังวลและความเครียดที่ทุกคนเผชิญในชีวิต แต่ความเจ็บป่วย/ความผิดปกติทางจิตนั้นรุนแรงมากกว่าประสบการณ์ทางอารมณ์ทั่วไป

การที่ไม่มีความรู้ด้านสุขภาพนี้มักนำไปสู่การตราหน้าและมองข้ามผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างจริงจัง

ฉันตกอยู่ในความรักของพวกเขา

ตลอดระยะเวลาที่ฉันใช้ชีวิตอยู่กับความผิดปกติทางจิต มีเพียงคริสตจักรเดียวที่ทำให้ฉันรู้สึกว่าฉันได้รับการดูแลอย่างแท้จริง ในช่วงปีแรกของการรับใช้ ฉันย้ายไปฮ่องกงและกลายเป็นส่วนหนึ่งของคริสตจักรที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสู่การรักษาของฉัน

ที่คริสตจักรนั้น เป็นครั้งแรกที่ฉันได้รับการแนะนำให้รู้จักกับความช่วยเหลือแบบมืออาชีพ คริสตจักรไม่เพียงแต่เข้าใจเรื่องสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังทำให้ฉันรู้ว่าฉันสมควรได้รับความช่วยเหลือ ศิษยาภิบาลและผู้นำฟังฉันขณะที่ฉันแบ่งปันเกี่ยวกับอาการทางร่างกายและจิตใจที่ฉันมี พวกเขาเห็นว่าฉันพยายามจัดการกับปัญหาเหล่านี้และแนะนำให้ฉันได้รู้จักกับนักบำบัด

หลังจากที่ได้พบนักบำบัดครั้งแรก ฉันรู้สึกเหมือนมีความหวัง คือฉันรับรู้ว่ามีอะไรผิดปกติกับร่างกายของฉัน ฉันสัมผัสได้มานานแล้วว่าไม่ใช่เรื่องทางจิตวิญญาณ แต่เป็นเรื่องทางร่างกาย ฉันถูกส่งไปพบจิตแพทย์และอยู่ภายใต้การดูแลของเขา ในที่สุดฉันก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล

ตลอดกระบวนการที่ยากลำบากในการค้นหาปัญหาสุขภาพของฉัน

ฉันได้รับการช่วยเหลือและได้รับความรักที่ยิ่งใหญ่จากคริสตจักร

บางครั้งเมื่อมีการนัดหมายเพื่อนจะไปด้วยกันกับฉัน ฉันได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของคริสตจักร ที่ซึ่งผู้คนมักจะถามฉันอยู่เสมอว่าฉันเป็นอย่างไรและการรักษาเป็นอย่างไรบ้าง ในวันที่ฉันออกไปไหนไม่ได้เพราะฉันไม่สบาย เพื่อนๆ จะมาเยี่ยมฉันที่บ้าน

ฉันไม่เพียงได้รับการยอมรับในฐานะส่วนหนึ่งของชุมชนเท่านั้น แต่ยังได้รับการสนับสนุนให้ทำงานพันธกิจต่อไป

ฉันเชื่อว่ามีพื้นที่สำหรับการเปลี่ยนแปลง

ฉันได้ยินมานับครั้งไม่ถ้วนว่าคริสตจักรเป็นสถานที่สำหรับการรักษาและการฟื้นฟู และถ้าเป็นเช่นนั้น ฉันเชื่อว่าคริสตจักรควรต้อนรับผู้ที่มีความผิดปกติหรือป่วยทางจิตด้วย

แต่ในแวดวงคริสเตียน หลายคนไม่แน่ใจว่าจะตอบสนองอย่างไร เมื่อมีคนบอกว่าเป็นโรคทางจิตเวช ซึ่งพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ

จากประสบการณ์ของฉันในการเดินทางทั่วเอเชีย ฉันพบว่าผู้คน (รวมถึงบางส่วนของคริสตจักร) ที่บางครั้งเปรียบเทียบโรคทางจิตเวชกับการถูกลงโทษเนื่องจากการทำบาป

แม้ว่าพระคัมภีร์ไม่ได้พูดถึงความผิดปกติทางจิตอย่างโจ่งแจ้ง เราสามารถดูตัวอย่างได้จากบุคคลในพระคัมภีร์ ผู้ที่อดทนต่อความทุกข์ทางจิตใจอย่างแสนสาหัส เอลียาห์ (1 พงศ์กษัตริย์ 19:3-4) ดาวิด (สดุดี 69:1-3) เปาโล (2 โครินธ์ 1:8) ซึ่งแสดงให้เราเห็นว่าประสบการณ์ความผิดปกติทางจิตของเรา อาจไม่จำเป็นต้องเกิดจากบาปบางอย่างที่เราได้ทำลงไป

ความรู้สึกของคนทั่วไปอีกอย่างคือความผิดปกติทางจิตนั้นเป็นสิ่งที่น่าละอาย ดังนั้นบางคนจึงไม่อยากคบกับเพื่อนที่มีปัญหาแบบนี้ด้วยซ้ำ ไม่สนใจที่จะอยู่เคียงข้าง มีความกลัวที่จะถูกเชื่อมโยงกับใครบางคนที่ “บ้า” และกลัวในสิ่งที่พวกเขาไม่รู้หรือเข้าใจ ด้วยเหตุนี้ การหลีกเลี่ยงสถานการณ์เหล่านี้จึงง่ายกว่าการทำอะไรกับมัน

กลับมาสู่คริสตจักรในฮ่องกง น่าทึ่งมากที่ผู้นำมีสายสัมพันธ์กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญที่สามารถแนะนำสมาชิกให้เข้าถึงได้ คริสตจักรยังส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับผู้คนในการพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพจิตทั่วไป เนื่องจากผู้นำและศิษยาภิบาลเองพูดถึงเรื่องเหล่านี้ในคำเทศนาและการแบ่งกลุ่มย่อย

เป็นที่เข้าใจได้ว่า มีคริสตจักรไม่กี่แห่งที่เป็นแบบนี้ ซึ่งพวกเขามีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพจิตและความเจ็บป่วยทางจิต รวมถึงทรัพยากรและเครื่องมือต่างๆ ที่มอบให้กับสมาชิก ในกรณีนี้การตระหนักและการศึกษาจะต้องเริ่มจากผู้ที่มีความรู้หรือมีประสบการณ์ในด้านนี้

หากคริสตจักรของคุณไม่มีความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตมากนัก นี่เป็นคำแนะนำบางประการที่คุณสามารถนำไปใช้ได้เบื้องต้น:

  • ให้อาสาสมัครแบ่งปันคำพยานของเขาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตร่วมกับความผิดปกติทางจิต
  • ขออนุญาตจากผู้นำคริสตจักรของคุณเพื่อจัดสัมมนาเกี่ยวกับความผิดปกติทางจิตและเชิญคริสเตียนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์มาพูดในเรื่องนี้
  • เริ่มกลุ่มสนับสนุน (ซัพพอร์ตกรุ๊ป) กับสมาชิกคนอื่นๆ ที่อาจเปิดให้เข้าร่วมและ/หรือแบ่งปันเกี่ยวกับการต่อสู้กับโรคทางจิตเวช
  • อธิษฐานขอให้พระเจ้าสำแดงโอกาสและวิธีที่เป็นไปได้ในการพูดถึงหัวข้อนี้ในคริสตจักรของคุณ และขอความคิดสร้างสรรค์ในการเสนอความคิดเพื่อให้ความรู้และสร้างการตระหนักเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช

ฉันคิดว่าคริสตจักรสามารถช่วยได้ด้วยวิธีเหล่านี้ …

หากคุณเป็นผู้นำคริสตจักรและมีคนมาหาคุณและแบ่งปันสิ่งที่ดูเหมือนเป็นความกังวลเรื่องสุขภาพจิต แทนที่จะตอบกลับทันทีด้วยคำพูดเช่น “โอ้ว ฉันด้วย ฉันก็กังวลและเหนื่อยเหมือนกัน” พยายามฟังให้ได้มากที่สุดและถามคำถามเพื่อได้ข้อมูลมากขึ้น ความต้องการการตอบสนองทันทีทันใดเป็นเรื่องน่าดึงดูดใจ แต่ในกรณีเหล่านี้ การฟังจะมีประโยชน์มากกว่า “คำตอบ” ที่ไม่เป็นประโยชน์

นอกจากการรับฟัง

วิธีปฏิบัติอื่นๆ ที่คริสตจักรสามารถให้การสนับสนุน ได้แก่ การติดตามสมาชิกที่ต้องการไปพบแพทย์หรือผู้ให้คำปรึกษา และเชิญสมาชิกเหล่านี้มาสามัคคีธรรม ร่วมกิจกรรมในโบสถ์ หรือพบปะสังสรรค์นอกโบสถ์เป็นประจำ

การทำเช่นนี้ช่วยให้พวกเขาไม่โดดเดี่ยวและสร้างโอกาสให้คุณเรียนรู้วิธีการโต้ตอบกับพวกเขา สิ่งนี้ให้กำลังใจพวกเขา ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขาไม่ได้เป็นที่รู้จักเพียงเพราะต่อสู้กับปัญหาทางจิตเท่านั้น แต่ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลทั่วไป ได้รับความรักและคุณค่าจากพระเจ้าเหมือนกัน

สิ่งสำคัญคือสมาชิกคริสตจักรต้องร่วมกันทำสิ่งเหล่านี้ เพื่อที่ความรับผิดชอบในการดูแลจะไม่ตกอยู่กับคนเพียงคนเดียว สิ่งสำคัญคือต้องกำหนดขอบเขตสำหรับผู้ที่อยู่ในฐานะที่ต้องดูแลผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต เพื่อให้พวกเขาสามารถหยุดพัก ดูแลสุขภาพจิตของตนเอง และป้องกันตนเองจากความเหนื่อยล้าและเบิร์นเอ้าท์

คำอธิษฐานของฉันคือขอให้คริสตจักรเป็นหนึ่งในสถานที่แรกๆ ที่นึกถึงเมื่อผู้ป่วยทางจิตต้องการความช่วยเหลือ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสถานที่แห่งสันติสุขสำหรับทุกคน (1 โครินธ์ 12:25-26) การสนับสนุนของคริสตจักรสามารถพิสูจน์ได้ว่าเปลี่ยนชีวิตผู้คนนับไม่ถ้วน ถ้าคริสตจักรจะทำงานเพื่อเตรียมพร้อมในการชี้นำผู้คนไปสู่ความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ และให้การสนับสนุนที่จับต้องได้ในฐานะชุมชนสำหรับผู้ที่เป็นโรคทางจิตเวช

YOU MAY ALSO LIKE

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าฉันไม่อยากอ่านพระคัมภีร์หรืออธิษฐาน

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าฉันไม่อยากอ่านพระคัมภีร์หรืออธิษฐาน

WRITER: ฉีฉี ต้นฉบับภาษาอังกฤษจาก YMITRANSLATOR: นิศารัตน์ มั่นเกตุEDITOR: กรชวัล เพชรเลิศอนันต์ มันเป็นอีกหนึ่งวันที่ยาวนาน ในระหว่างที่ดูแลพวกลูกๆ  สะสางงานต่างๆ  ก็แทบจะไม่มีเวลาให้ได้พักหายใจเลย เมื่อลูกๆ...

ฉันมีส่วนรับผิดชอบในความรอดของเพื่อนหรือไม่?

ฉันมีส่วนรับผิดชอบในความรอดของเพื่อนหรือไม่?

WRITER: เมดาลีน คาลู ต้นฉบับภาษาอังกฤษจาก YMITRANSLATOR: PinkEDITOR: Thitikarn Nithiuthai (Mesy) ฉันยังจำช่วงเวลาที่ฉันเริ่มต้นความสัมพันธ์กับพระเยซูได้ ราวกับว่าเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ทุกอย่างเริ่มต้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในช่วงที่อากาศหนาวเย็นของเดือนมกราคม ฮันนาห์...

เสียงที่ดังพอ

เสียงที่ดังพอ

WRITER: GRACESaoriEDITOR: Mustard Seed Team เคยไหม? ที่ในบางครั้งเสียงของใครบางคนก็ดังกว่าเสียงของตัวเอง เสียงนี้มักดังเร้าอยู่ภายในใจ บ่อยครั้งในเมื่อเราอยู่ในช่วงที่คิดไม่ตก ฟุ้งซ่าน หาทางออกไม่เจอหลายๆ สิ่ง แต่จะมีเสียงๆ นี้แหละ ที่กลับดังขึ้นมาหัวใจ...

Share This